ภาพโดย : http://th.aectourismthai.com/content1/2680
อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นองค์กรในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และความมั่นคง โดยปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ 7 ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่
1. ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
2. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
3. เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
4. ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
5. ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย
6. เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า
7. เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอกองค์การความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศ
อาเซียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยการลงนามจากรัฐมนตรี ของสมาชิกแรกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่
1. นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
2. ตุน อับดุล ราซัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
3. นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
4. นาย เอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์
5. พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย
ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ โดยประเทศสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมได้แก่ บรูไนดารุสซารามได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2527 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และราชอาณาจักรกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542
นโยบายและการดำเนินงานของอาเซียนนั้น เป็นผลจากการประชุมหารือในระดับหัวหน้ารัฐบาล ระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน ทั้งนี้การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) หรือ การประชุมของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นการประชุมระดับสูงเพื่อกำหนดแนวนโยบายในภาพรวม และเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมกันประกาศเป้าหมายและแผนงานของอาเซียนในระยะยาว ซึ่งจะปรากฎเป็นเอกสารในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) แถลงการณ์ร่วม (Joint Declaration) ปฏิญญา (Declaration) ความตกลง (Agreement) หรืออนุสัญญา (Convention) ส่วนการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสจะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาทั้งนโยบายในภาพรวมและนโยบายเฉพาะด้าน
เมื่อปี พ.ศ. 2546 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2 หรือ Bali Concord II ตกลงที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) และ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) แต่ต่อมาประเทศสมาชิกได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ และในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2551 ก็ได้มีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เพื่อยกระดับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน และเพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งด้านกฎหมายให้กับองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน
คำขวัญอาเซียน : หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม / One vision One identity One Community
สัญลักษณ์อาเซียน : สัญลักษณ์อาเซียนเป็นรวงข้าวสีเหลือง 10 มัด หมายถึง การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่ในพื้นที่วงกลมสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพ มีตัวอักษรคำว่า ASEAN สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าวอันแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้า ของประเทศสมาชิกอาเซียน สีทั้งหมดที่ปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียนเป็นสีสำคัญที่ปรากฏในธงชาติ ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
เพลงประจำอาเซียน : การจัดทำเพลงประจำอาเซียนเป็นการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียนโดย ข้อบทที่ 40 ระบุให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน โดยประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเพลงประจำอาเซียน โดยที่ประชุมประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ความเห็นชอบให้กำหนดรูปแบบการแข่งขันเป็น Open Competition โดยเนื้อร้องต้องมีเกณฑ์ ดังนี้ 1. เป็นภาษาอังกฤษ 2. มีลักษณะเป็นเพลงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน 3. มีความยาวไม่เกิน 1 นาที 4. เนื้อร้องสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ 5. เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ โดยเพลงชื่อ “The ASEAN Way” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเพลงประจำชาติอาเซียน ซึ่งเพลงนี้แต่งโดย นายกิตติคุณ สุดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) นายสำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และนางพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง)
Raise our flag high, sky high
Embrace the pride in our heart
ASEAN we are bonded as one
Look'in out to the world.
For peace, our goal from the very start
And prosperity to last.
We dare to dream, We care to share.
Together for ASEAN
We dare to dream, We care to share for it's the way of ASEAN.
สำนักเลขาธิการอาเซียน : (ASEAN Secretariat) ตั้งอยู่ที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยมีเลขาธิการอาเซียนเป็นห้วหน้า
ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก
-
- ประเทศไทยกับอาเซียน, กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
-
- บันทึกการเดินทางอาเซียน (2552), กรมอาเซียน