ข้อมูลไทยกับอาเซียน

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ชุมชน สังคมวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในระดับรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) อย่างภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจต่างๆ ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเห็นความสำคัญว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะกระทบต่อชุมชนและสังคมท้องถิ่นเป็นอย่างมากจึงมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและประชาคมอาเซียนเพื่อให้หน่วยงานราชการและองคาพยพต่างๆ  ของสังคมไทยได้เรียนรู้และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ในเบื้องต้น ประเทศไทยมีความสำคัญกับอาเซียนเป็นอย่างมากเพราะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 มีพัฒนาการมาเป็นลำดับและไทยก็มีบทบาท สำคัญในการผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้มีความคืบหน้ามาโดย ตลอด ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยในขณะนั้น มีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปเจรจาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างมลายาและฟิลิปปินส์ เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ เหนือดินแดนซาบาห์และซาราวัก รวมทั้งการที่สิงคโปร์แยกตัวออก มาจากมลายา และได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี  หรือรู้จักในชื่อ “Spirit of Bangsaen” หรือ จิตวิญญาณแห่งบางแสน อันนำมาสู่การลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ไทยจึงถือเป็นทั้งประเทศผู้ร่วมก่อตั้งและ เป็น ‘บ้านเกิด’ ของอาเซียน


รูปภาพโดย : http://asean.bangkok.go.th/asean/index.php/2014-02-15-13-59-41/2014-02-15-14-00-16/2014-02-16-13-54-39

แม้ในเบื้องต้น ความร่วมมือของอาเซียนจะมีขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาความมั่นคงภายในภูมิภาคอย่างข้อตกลงบาหลี 1 (Bali Concord I) การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรกของกลุ่มประเทศอาเซียนประกอบด้วยผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศแรก คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 เพื่อร่วมกันมีปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพ และมีความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN) และร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาอาเซียนได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจนครบ 10 ประเทศแบบในปัจจุบัน ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมในช่วงเวลาแตกต่างกันได้แก่ ไทย (2510) สิงคโปร์ (2510) อินโดนีเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) บรูไน (2527) เวียดนาม (2538) ลาว (2540) พม่า (2540) กัมพูชา (2542) ตามลำดับ และหันไปเน้นในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นับได้ตั้งแต่ผลงานของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของอาเซียนให้มีความคืบหน้า โดยการริเริ่มให้มีการจัดตั้งเขตการค้า เสรีอาเซียน หรือ ASEAN Free Trade Area (AFTA) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยอาเซียนตกลงที่จะลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือ ร้อยละ 0-5 ในเวลา 15 ปี ซึ่งต่อมาได้ลดเวลาลงเหลือ 10 ปี โดยประเทศสมาชิกเก่า 6 ประเทศ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2546 ในขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2551

การก่อตั้งประชาคมอาเซียนนั้น เกิดขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2540 และเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 (Bali Concord II) เห็นชอบให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ

 

1) ประชาคมความมั่นคง (ASEAN Security Community: ASC)

2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

สำหรับประเทศไทยได้มียุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) จัดทาขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมเชอราตัน พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ เป้าหมายและแนวทางประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 28 ประเด็นหลัก 56 แนวทางการดำเนินการ รวมทั้งได้มีการบูรณาการ ร่วมกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Strategy) จากการประชุมเชิงปฏิบัติการการเข้าสู่ประชาคม อาเซียน ปี 2558 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม” โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย

1) ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง (Growth and Competitiveness)

2) ยุทธศาสตร์ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Growth)

3) ยุทธศาสตร์ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสมดุลและปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐ (Internal Process)

 ดาวน์โหลดยุทธศาสตร์ประเทศต่ออาเซียนฉบับเต็ม

สำหรับประเทศไทยกับอาเซียน ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอาจมีตัวอย่างดังนี้

  1. ผลประโยชน์จากความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างหลักประกันว่าประเทศสมาชิก อาเซียนอื่นๆ จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว หรือมิฉะนั้น ก็จะมีกลไกเพื่อทำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลง
  2. ความสามารถรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกที่ส่งผล กระทบต่อประชาชนโดยตรงได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าจะ เป็นไข้หวัดนก โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อน หรือปัญหายาเสพติด เนื่องจากกฎบัตรจะเสริมสร้างกลไกต่างๆ เพื่อ ให้ไทยและอาเซียนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ทันการณ์มากยิ่งขึ้น
  3. ประเทศไทยผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบอย่างทันท่วงที เช่น การนำกลไกสามฝ่ายระหว่างอาเซียน- สหประชาติ-พม่า ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กีสในพม่า มาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยเข้าเมืองชาวโรฮิงญา เป็นต้น
  4. กฎบัตรอาเซียนจะช่วยส่งเสริมค่านิยมของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย เช่น การไม่ใช้ กำลังในการแก้ไขปัญหา การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความมั่นคง ของมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  5. อำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยในฐานะ ประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีโลก เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วย สร้างความน่าเชื่อถือและกติกาให้แก่อาเซียน และ ให้ประเทศไทย สามารถโน้มน้าวให้ประเทศนอกภูมิภาคช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกที่ กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน รวมทั้งประชาชนไทยได้ อย่างมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

 

จากที่กล่าวมานี้ประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และหน่วยงานราชการไทยได้มีนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน โดยสามารถเข้าดูได้ในลิงก์ดังต่อไปนี้

  1. กระทรวงการคลัง (Ministry of Finance)
  2. กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs) 
  3. กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (Ministry of Tourism and Sports)
  4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Ministry of Agriculture and Cooperatives)
  5. กระทรวงคมนาคม (Ministry of Transport)
  6. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Information and Communication Technology)
  7. กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce)
  8. กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior)

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร และคณะ (2559) การสังเคราะห์งานวิจัยและช่องว่างการวิจัยที่เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย, กรุงเทพ: สำนักงานส่งเสริมการวิจัย.
  • สำนักงานประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ (2554) ประเทศไทยกับอาเซียน: One Vision, One Identity, One Community, สำนักงานประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์
  • ไชยวัฒน์ ค้ำชู และณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร (2555) ประชาคมอาเซียนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น, กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า
  • http://aseanwatch.org/category/research/thai-research/
  • http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20121203-162828-142802.pdf