การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ชุมชน สังคมวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในระดับรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) อย่างภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจต่างๆ ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเห็นความสำคัญว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะกระทบต่อชุมชนและสังคมท้องถิ่นเป็นอย่างมากจึงมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและประชาคมอาเซียนเพื่อให้หน่วยงานราชการและองคาพยพต่างๆ ของสังคมไทยได้เรียนรู้และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ในเบื้องต้น ประเทศไทยมีความสำคัญกับอาเซียนเป็นอย่างมากเพราะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 มีพัฒนาการมาเป็นลำดับและไทยก็มีบทบาท สำคัญในการผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้มีความคืบหน้ามาโดย ตลอด ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยในขณะนั้น มีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปเจรจาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งระหว่างมลายาและฟิลิปปินส์ เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ เหนือดินแดนซาบาห์และซาราวัก รวมทั้งการที่สิงคโปร์แยกตัวออก มาจากมลายา และได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี หรือรู้จักในชื่อ “Spirit of Bangsaen” หรือ จิตวิญญาณแห่งบางแสน อันนำมาสู่การลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ไทยจึงถือเป็นทั้งประเทศผู้ร่วมก่อตั้งและ เป็น ‘บ้านเกิด’ ของอาเซียน
รูปภาพโดย : http://asean.bangkok.go.th/asean/index.php/2014-02-15-13-59-41/2014-02-15-14-00-16/2014-02-16-13-54-39
แม้ในเบื้องต้น ความร่วมมือของอาเซียนจะมีขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาความมั่นคงภายในภูมิภาคอย่างข้อตกลงบาหลี 1 (Bali Concord I) การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรกของกลุ่มประเทศอาเซียนประกอบด้วยผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศแรก คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 เพื่อร่วมกันมีปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ เสรีภาพ และมีความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN) และร่วมลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาอาเซียนได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจนครบ 10 ประเทศแบบในปัจจุบัน ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมในช่วงเวลาแตกต่างกันได้แก่ ไทย (2510) สิงคโปร์ (2510) อินโดนีเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) บรูไน (2527) เวียดนาม (2538) ลาว (2540) พม่า (2540) กัมพูชา (2542) ตามลำดับ และหันไปเน้นในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นับได้ตั้งแต่ผลงานของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของอาเซียนให้มีความคืบหน้า โดยการริเริ่มให้มีการจัดตั้งเขตการค้า เสรีอาเซียน หรือ ASEAN Free Trade Area (AFTA) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยอาเซียนตกลงที่จะลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือ ร้อยละ 0-5 ในเวลา 15 ปี ซึ่งต่อมาได้ลดเวลาลงเหลือ 10 ปี โดยประเทศสมาชิกเก่า 6 ประเทศ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2546 ในขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2551
การก่อตั้งประชาคมอาเซียนนั้น เกิดขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2540 และเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 (Bali Concord II) เห็นชอบให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ
1) ประชาคมความมั่นคง (ASEAN Security Community: ASC)
2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
สำหรับประเทศไทยได้มียุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) จัดทาขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมเชอราตัน พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ เป้าหมายและแนวทางประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 28 ประเด็นหลัก 56 แนวทางการดำเนินการ รวมทั้งได้มีการบูรณาการ ร่วมกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Strategy) จากการประชุมเชิงปฏิบัติการการเข้าสู่ประชาคม อาเซียน ปี 2558 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม” โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย
1) ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง (Growth and Competitiveness)
2) ยุทธศาสตร์ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Growth)
3) ยุทธศาสตร์ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)
4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสมดุลและปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐ (Internal Process)
ดาวน์โหลดยุทธศาสตร์ประเทศต่ออาเซียนฉบับเต็ม
สำหรับประเทศไทยกับอาเซียน ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอาจมีตัวอย่างดังนี้
-
ผลประโยชน์จากความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างหลักประกันว่าประเทศสมาชิก อาเซียนอื่นๆ จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว หรือมิฉะนั้น ก็จะมีกลไกเพื่อทำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลง
-
ความสามารถรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกที่ส่งผล กระทบต่อประชาชนโดยตรงได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าจะ เป็นไข้หวัดนก โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อน หรือปัญหายาเสพติด เนื่องจากกฎบัตรจะเสริมสร้างกลไกต่างๆ เพื่อ ให้ไทยและอาเซียนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ทันการณ์มากยิ่งขึ้น
-
ประเทศไทยผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบอย่างทันท่วงที เช่น การนำกลไกสามฝ่ายระหว่างอาเซียน- สหประชาติ-พม่า ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กีสในพม่า มาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยเข้าเมืองชาวโรฮิงญา เป็นต้น
-
กฎบัตรอาเซียนจะช่วยส่งเสริมค่านิยมของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย เช่น การไม่ใช้ กำลังในการแก้ไขปัญหา การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความมั่นคง ของมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
-
อำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยในฐานะ ประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีโลก เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วย สร้างความน่าเชื่อถือและกติกาให้แก่อาเซียน และ ให้ประเทศไทย สามารถโน้มน้าวให้ประเทศนอกภูมิภาคช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกที่ กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน รวมทั้งประชาชนไทยได้ อย่างมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
จากที่กล่าวมานี้ประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และหน่วยงานราชการไทยได้มีนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน โดยสามารถเข้าดูได้ในลิงก์ดังต่อไปนี้
-
กระทรวงการคลัง (Ministry of Finance)
-
กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs)
-
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (Ministry of Tourism and Sports)
-
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Ministry of Agriculture and Cooperatives)
-
กระทรวงคมนาคม (Ministry of Transport)
-
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Information and Communication Technology)
-
กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce)
-
กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior)
เอกสารอ้างอิง