การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


รูปภาพโดย : http://www.mfa.go.th/asean/en/organize/5682

การเตรียมความพร้อมของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) สำหรับประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ได้มีบทบาทสำคัญในการนำหลักการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือ ในระดับภูมิภาคเข้ามาปรับใช้กับแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการพัฒนาต่างๆ เช่น สิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร การแก้ไขปัญหาผู้อพยพ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษาร่วมกันในอาเซียน

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ของประเทศไทยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บูรณาการ แนวทางการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการเตรียมการรองรับผลกระทบและแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และใช้โอกาสจาก ความร่วมมือในอาเซียนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนประกอบกับความตื่นตัวในการรับรู้เรื่องประชาคมอาเซียนที่มากขึ้นในทุกภาคส่วน

การเตรียมความพร้อมและใช้โอกาสจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมการเมือง และความมั่นคงของอาเซียน และการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและประชาชน จะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของประชาชนที่ดีขึ้น รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความมั่นคง ในรูปแบบต่างๆ เป็นหลักการสำคัญที่นำมาซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ภายใต้แนวทางการพัฒนา 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้า และการลงทุน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค การสร้างเอกภาพ และสันติภาพร่วมกัน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน ทั้งด้าน การลงทุน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการค้าชายแดน
แผ่นภาพ: ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของรัฐบาลไทย

รูปภาพโดย : http://asean.bangkok.go.th/index.php/2014-02-15-14-09-21/2558

นอกจากนี้ ในปัจจุบันภายใต้ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน หรือ “Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2025: Forging ahead Together” ได้วางวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนา และเจตนารมณ์ร่วม ที่จะอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพที่ยืนยง มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งร่วมกัน และมีความก้าวหน้าทางสังคม และส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมคติ และความใฝ่ฝัน ของอาเซียน ประกอบกับยุทธศาสตร์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งโอกาสและความ ท้าทาย ซึ่งอาเซียนจะต้องตอบสนองในเชิงรุก เพื่อให้อาเซียนมีความสำคัญและรักษา ความเป็นแกนกลาง และบทบาทของอาเซียนในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในกระแสโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ ดังนี้

  1. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อเฉลิมฉลอง การก่อตั้งประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 อย่างเป็นทางการ และกำหนดวิสัยทัศน์ ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025)
  2. วิสัยทัศน์อาเซียนในการเป็นประชาคมที่รวมกันเป็นหนึ่ง มีสันติภาพ และ ความมั่นคง รวมทั้งมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธกรณีและ ความปรารถนา ที่ระบุไว้ในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิสัยทัศน์อาเซียน พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2 กฎบัตรอาเซียน แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ. 2009-2015) และปฏิญญาบาหลี ว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก
  3. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคง อาเซียน แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน กรอบยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนและแผนงาน ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 2 (ค.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๕) รวมทั้งแผนแม่บท ว่าด้วย ความเชื่อมโยงระหว่างกันอาเซียน ได้นำพาพวกเราไปสู่จุดที่สำคัญของพัฒนาการ
  4. การสร้างให้ประชาคมให้แข็งแกร่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการ การรวมกลุ่ม ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ยึดมั่นในกฎกติกา ทำเพื่อประโยชน์ ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นที่ซึ่งประชาชนมีสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับประโยชน์จากการสร้างประชาคม เสริมสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีอัตลักษณ์ร่วม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และหลักการของกฎบัตรอาเซียน
  5. ประชาคมที่มีสันติภาพ ความมั่นคง และความแข็งแกร่ง มีศักยภาพมากขึ้นที่จะ ตอบสนองต่อความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาคมที่มองออกไปนอกภูมิภาค ในฐานะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้ อีกทั้ง เรามองเห็นความมีชีวิตชีวา ความยั่งยืนและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขั้นสูง ความเชื่อมโยงที่มากขึ้น รวมทั้งความพยายามที่แข็งขันขึ้นในการลดช่องว่างด้านการพัฒนา ผ่านข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน และเรายังมองเห็นอาเซียนที่มีขีดความสามารถ ในการไขว่คว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาถึงในทศวรรษหน้า
  6. เน้นย้ำความสอดคล้องกันระหว่างวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) กับความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนในประเทศสมาชิก

ด้วยเหตุนี้ ในรัฐบาลปัจจุบันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน 11 ด้าน ซึ่งได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 อันประกอบด้วย “การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน” รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนงานระยะ 5 ปี รองรับทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในด้านการเมืองและความมั่นคง ได้จัดตั้ง (1) ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะ (2) ศูนย์ ASEAN Narcotics Cooperation Center (ASEAN-NARCO) เพื่อดำเนินการด้านความร่วมมือในการป้องกันยาเสพติด และ (3) ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางของสำนักงานทางการแพทย์ทหารของอาเซียน

ด้านเศรษฐกิจ ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ตามพันธกรณีของอาเซียน อาทิ การเปิดเสรีทางการค้า และบริการ 5 สาขา (โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ขนส่งโลจิสติกส์และการก่อสร้างการเงินและประกันภัย และการศึกษา) การเชื่อมโยงด้านการขนส่งการสื่อสาร และพลังงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อให้สอดคล้องมาตรฐานอาเซียน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ

ด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้กำหนดแผนงานระยะ 5 ปี ภายใต้ 5 องค์ประกอบหลัก คือ การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนาทางสังคม ที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นสมาชิกประชาคมโลก อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ณ อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน 

 นโยบายรัฐบาลปัจจุบันกับภารกิจด้านอาเซียน

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยการรวมกลุ่มในประชาคมย่อมก่อให้เกิดทั้ง “โอกาสและความท้าทาย” อันจะเป็นภารกิจใหม่ให้กับประเทศไทย ทั้งในระดับรัฐบาล ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ปรับตัวและเรียนรู้การใช้โอกาสจากสิ่งที่กำลัง จะเกิดขึ้น เพื่อใช้โอกาสดังกล่าวให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และจัดการกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิง

  • กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ (2559) อาเซียน 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน (ASEAN 2025: Forging ahead Together), กรุงเทพ: เพจเมคเกอร์.
  • รายงานสรุปผลประจำปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2556) เส้นทางประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียน, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • รายงานผลงานดำเนินงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครบรอบ 1 ปี (12 กันยายน 2557-12 กันยายน 2558)