กฎบัตรอาเซียน

รูปภาพโดย : http://www.enn.co.th/2316.html

การรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน ทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นองค์กรที่มีบทบาทในเวทีโลก โดยอาเซียนมีโครงสร้างการทำงานในรูปแบบคณะรัฐมนตรี แบ่งเป็น 3 คณะ คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือที่เรียกกันว่า 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน
     ในการบริหารจัดการประเทศสมาชิกนั้น กฎบัตรอาเซียน คือ ร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้สถานะทางกฎหมายหรือนิติฐานะแก่อาเซียน รวมถึงวางกรอบโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้อาเซียนเป็นหน่วยงานที่ยึดมั่นมากยิ่งขึ้นต่อกติกาและกฎหมายต่าง ๆ ที่สมาชิกร่วมกันกำหนดขึ้น อันนำมาซึ่งการเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนั้น กฎบัตรอาเซียนยังมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือด้วยการจัดตั้งกลไกใหม่ ๆ เพื่อปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของประชาคมอาเซียน ในกฎบัตรอาเซียนจึงมีการเขียนอย่างละเอียดครอบคลุม นับตั้งแต่การเริ่มต้นบรรยายถึงพันธกิจที่มีร่วมกันแล้วแบ่งเป็นหมวด เช่น วัตถุประสงค์ของอาเซียน ก่อเกิดขึ้นมาเพื่ออุดมการณ์อย่างใด หมวดการรับสมาชิกอาเซียน หรือแม้กระทั่งการจัดการประชุมในภาวะฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่ออาเซียน หรือการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศก็มีกำหนดไว้ในกฎบัตรอย่างเป็นขั้น เป็นตอน กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งประกอบด้วย บทบัญญัติ 13 บท รวม 55 ข้อ

ดาวน์โหลดกฎบัตรอาเซียนฉบับเต็ม

 

ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก

  • - 50 คำ กุญแจไขอาเซียน โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช
  • - รู้จักประชาคมอาเซียน โดย วิทย์ บัณฑิตกุล