ไทยกับสามเสาหลัก

เสาหลักทางเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเศรษฐกิจมีความเป็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค จนนำมาสู่ความร่วมมือด้านอื่น เช่น ความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากร ที่เท่ากัน (Common Effective Preferential Tariff: CEPT) กรอบข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าและบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) กรอบข้อตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement on ASEAN Investment Area: AIA) และข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) เป็นต้น

ประกอบกับการเกิดขึ้นของอาเซียนที่รับเอาความร่วมมือภายนอกในการเปิดการค้าเสรี เช่น กลุ่มอาเซียน+3 คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และกลุ่มอาเซียน+6 คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกันจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ การเปิดการค้าเสรีทั้งระดับภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆ ทำให้การเตรียมพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในด้านของเสาหลักทางเศรษฐกิจ (Economic pillar) ผ่านกรอบการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านเศรษฐกิจ หรือ ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint ซึ่งมีประเด็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวตามกรอบข้อตกลงดังนี้

  1. การสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียว (Single Market and Production Base)
    1. ส่งเสริมเสรีในการเคลื่อนย้ายสินค้า (Free flow of good) เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้สามารถเป็นศูนย์การผลิตในระดับห่วงโซ่อุปทาน สากลได้ เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการลดภาษี การลดการจำกัดข้อกีดกันทางการค้า การวางกรอบเชิงสถาบันเกี่ยวกับกฎเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า และการให้อำนวยความสะดวกในการค้าและการผลิต เป็นต้น
    2. ส่งเสริมเสรีในการเคลื่อนไหวด้านบริการ (Free flow of services) เช่น การบริการทางการเงิน การบริการด้านการประกอบธุรกิจ การบริการด้านการสื่อสารข้อมูลสารสนเทศ การบริการด้านสุขภาพ การบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
    3. ส่งเสริมการเปิดเสรีทางด้านการลงทุน (Free flow of investment) จะเป็นการพัฒนา ต่อยอดจากกรอบข้อตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement on ASEAN Investment Area: AIA) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งกัน (Competitiveness) ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) และการลงทุนจากแหล่งทุนภายในอาเซียน (Intra-ASEAN Investment) ในการพัฒนา และรักษาพลวัตรในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
    4. ส่งเสริมการเปิดเสรีด้านแหล่งเงินทุน (Free flow of capital) เพื่อทำให้ตลาดอาเซียน ด้านแหล่งทุนสามารถพัฒนาและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีทุนอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งในด้านการจัดการหนี้ การกระจายความเสี่ยง และการสนับสนุน ในการแลกเปลี่ยนค่าเงินต่างๆ
    5. ส่งเสริมการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของแรงงานที่มีฝีมือ (Free flow of skilled labour) เป็นหนึ่งในสาระสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็น “แรงงานที่มีฝีมือ” สามารถเคลื่อนไหวในการเข้าไปสร้างผลิตภาพทางการผลิตสินค้าและบริการ อย่างเสรี โดยไม่ติดขัดในเรื่องของกฎระเบียบและสัญชาติ อาจมีการปรับกฎระเบียบ ในการเข้าออกในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมไปถึงความร่วมมือในการพัฒนาแรงงาน ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN)
    6. ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มสาขาภาคส่วนทางเศรษฐกิจต่างๆ (Priority Integration Sectors) เพื่อทำให้เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนเติบโตไปได้พร้อมกัน มีการบูรณาการ ภาคส่วนต่างๆ ทั้งการผลิต แหล่งทุน และทรัพยากร ในระดับ SMEs ระดับชาติ จนไปถึงระดับภูมิภาค ในด้านนี้อาจย้อนไปถึงกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญ ของอาเซียน (Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors) ที่มีการทำขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ด้วย
    7. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ (Food, Agriculture and Forestry) ทั้งการค้าภายในอาเซียนและอาเซียนกับประเทศอื่น (intra- and extra-ASEAN) เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้านอาหาร สินค้าเกษตร ประมง และป่าไม้ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าด้านอาหาร สินค้าเกษตร ประมง และป่าไม้ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สำหรับการค้าเสรีและสุขอนามัย
  2. การสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการเปลี่ยนกฎกติกาและสถาบันต่างๆ
    1. การเปลี่ยนแปลงนโยบายในการแข่งขันทางการค้า (Competition policy)
    2. การให้ความคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer protection) ผ่านคณะกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (ASEAN Committee on Consumer Protection : ACCP)
    3. หลักการในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญหา (Intellectual Property Rights: IPR) ผ่าน Work Plan for ASEAN Cooperation on Copyrights เป็นต้น
    4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure development) ทั้งในด้านการขนส่ง คมนาคม ผ่านแผนปฏิบัติการว่าด้านการคมนาคมอาเซียน (The ASEAN Transport Action Plan: ATAP) ที่มีมาตรการย่อยทั้งหมด 48 มาตรการสำหรับการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และรวมไปถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (information infrastructure) สำหรับติดตามการเจริญเติบโตและศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจอาเซียน
    5. การปรับตัวในด้านของภาษี (Taxation)
    6. การปรับตัวเพื่อรองรับการค้าออนไลน์ (E-Commerce)
  3. การสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
    1. การพัฒนา SME ภายใต้กรอบ The ASEAN Policy Blueprint for SME Development (APBSD) เพื่อส่งเสริมให้หน่วยธุรกิจขนาดย่อยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจได้
    2. ส่งเสริมความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) เพื่อทำให้การรวมตัวของของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยในการลดช่องว่างของการพัฒนา (narrowing the development gap: NDG) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม (ASEAN-6) และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (CLMV) เช่น การลดปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร พัฒนาระบบราชการ และเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขัน
  4. การพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก (Integration into the Global Economy)
    1. วางกรอบเพื่อสร้างความสอดคล้องในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายนอก (Coherent Approach) ทั้งในด้านของการเปิดการค้าเสรีและการสร้างความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจ
    2. สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายอุปทานระดับโลก เพื่อให้ประเทศสมาชิก อาเซียนสามารถพัฒนาศักยภาพและผลิตภาพในทางอุตสาหกรรมเพื่อแข่งขันในระดับสากล
แผ่นภาพ: พัฒนาการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
   ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจึงไม่ใช่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อให้เกิด “อัตลักษณ์อาเซียน” ที่เน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนการรักษามรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันในอาเซียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขึ้น โดยก้าวผ่านข้อจำกัดในเรื่องของ “ชาตินิยม” ของแต่ละประเทศ  เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของอาเซียนภายใต้คำขวัญที่ว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (one vision, one identity, one community) 

อ้างอิง

 

เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง

รูปภาพโดย : http://www.108acc.com/index.php?lite=article&qid=42042308

ในความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับอาเซียน ในฐานะที่เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความโดดเด่นในด้านของเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าเรื่องของ “การเมืองและความมั่นคง” เพราะพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกต่างหลากหลายมาก ทั้งในเรื่องลัทธิความเชื่อทางการเมืองแบบสังคมนิยม ประชาธิปไตย และรัฐบาลทหาร ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน การแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งทางศาสนา การก่อการร้าย ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และปัญหาชนกลุ่มน้อย ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ บรรทัดฐานหนึ่งของความร่วมมือในภูมิภาคจึงในไปในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ส่วนเรื่องการเมืองจะละไว้ในส่วนของการ “ไม่แทรกแซง” กิจการภายในประเทศของประเทศสมาชิก (The Principle of Non-Interference)

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงที่มาและต้นกำเนิดของอาเซียนจะพบว่าเป้าหมายของอาเซียนในเริ่มแรกเป็นเรื่องของ “ความมั่นคง” ในภูมิภาคเป็นหลัก โดยการเกิดขึ้นของอาเซียนตั้งแต่ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 มีประเทศผู้ก่อตั้งแรกเริ่ม 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในฐานะประเทศที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับความขัดแย้ง ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น ภายใต้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิดของญี่ปุ่น ภายใต้แนวความคิดนโยบายต่างประเทศแบบ The Fukuda Doctrine ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองแบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ รวมไปถึงข้อตกลงเรื่องความมั่นคงต่างๆ เช่น ปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่สันติภาพ เสรีภาพ และเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN) และสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asian Nuclear Weapon-Free-Zone) เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในด้านของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ภายใต้แนวทางการเตรียมความพร้อมภายใต้แนวทางด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคง หรือ ASEAN Political-Security Community (APSC) Blueprint จะเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทย ใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย

  1. การสร้างประชาคมที่ยึดในกฎกติกาและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีหลักการคุณค่าร่วม และบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความยุติธรรมทางสังคม รวมถึงการยึดมั่นในความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันและการประสานคุณค่าและอัตลักษณ์ระหว่างกัน
  2. การสร้างประชาคมที่มีความเข้มแข็งในการปรับตัว (resilient community) ในด้าน ของเสรีภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพให้กับภูมิภาค อย่างมีความรับผิดชอบร่วมกันในมิติด้านความมั่นคง (comprehensive security)
  3. การสร้างประชาคมที่สามารถมีความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง ในสากลโลก
  4. การสร้างประชาคมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากรอบกติกาเชิงสถาบันเพื่อพัฒนาความร่วมมือในอาเซียนอย่างประสิทธิภาพและประสิทธิพล ภายใต้กลไกต่างๆ ของอาเซียน ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับสากล

ตัวอย่างของความร่วมมือในด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คือ การประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Minister’s Meeting) มีเป้าหมายของการประชุมเพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพและเสรีภาพในภูมิภาค โดยผ่านการหารือกับประเทศคู่เจรจา และความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการป้องกัน อันนำไปสู่การหารืออย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการทหารให้มีความร่วมมือในด้านการป้องกันและความมั่นคงภายในอาเซียน รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจา ของอาเซียนมากขึ้นด้วย และเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน ผ่านการทำความเข้าใจจากความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านการป้องกันและความมั่นคง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและ เปิดกว้างมากขึ้น ที่นำไปสู่ความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค เช่น แนวคิดว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งอาเซียน (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Defence Industry Collaboration: ADIC) และแนวคิดว่าด้วยการตั้งโครงข่ายศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพแห่งอาเซียน (Concept Paper on the Establishment of ASEAN Peacekeeping Centres Network) เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right: AICHR) ในฐานะที่เป็นกลไกระดับอาเซียนในการเข้ามาดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอาเซียน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อเสริมความพยายามระดับประเทศและระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการยึดถือมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเวียนนา และตราสารว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นภาคี

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย ตามรายงานของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทายในด้านของการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนไว้ดังนี้

  1. ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่สุดในเสาการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คือการสร้างค่านิยมร่วมกัน เนื่องจากความหลาก หลายของวัฒนธรรมการเมือง (Political Culture) ของประเทศสมาชิกอาเซียน และการที่แต่ละประเทศยังไม่มุ่งไปสู่การสร้าง ผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการที่ระบบสถาบัน ของอาเซียนที่จะช่วยส่งเสริมค่านิยม อาเซียนยังอ่อนแอ โดยเฉพาะสำนักเลขาธิการอาเซียน
  2. ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่ยังมีประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงในแต่ละประเทศสมาชิกต่างๆ หรือ ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งสร้างข้อจำกัดให้กับการที่อาเซียน จะใช้กลไกของตนได้การเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาความท้าทาย เหล่านี้เช่นกรณีที่ เกือบทุกประเทศ ไม่ประสงค์ที่จะให้อาเซียนมายุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศ แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีนัย หรือผลกระทบในระดับภูมิภาคก็ตาม เช่นเรื่องพัฒนาการ ในเมียนมาร์หรือปัญหาหมอกควัน เป็นต้น อีกทั้งไม่ประสงค์ให้อาเซียน มายุ่งเกี่ยวกับปัญหาทวิภาคีโดยเฉพาะปัญหาเขตแดน (ซึ่งในกรณีของข้อขัดแย้งระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ในปี 2552 ทั้งสอง ประเทศได้ใช้กลไกของ International Court of Justice (ICJ) มากกว่ากลไกอาเซียนในการแก้ข้อพิพาททางเขตแดน)
  3. แม้ว่าอาเซียนจะพยายามสร้างหลักการของ ASEAN centrality ในภูมิภาค แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจได้สร้าง ข้อจำกัดให้กับอาเซียนในการที่จะผลักดันให้กลไกต่างๆในภูมิภาคเป็น ASEAN agendaในเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ โดยที่ความมั่นคงในภูมิภาคยังต้องพึ่งพาอาศัยบทบาทของประเทศนอกภูมิภาค ดังนั้น อาเซียนยังจำเป็นต้องสร้างหุ้นส่วนสำคัญ กับประเทศนอกภูมิภาค และในบางกรณียังต้องใช้วิธีการ Balance of Power เพื่อไม่ให้มหาอำนาจใดมาครอบงำภูมิภาค
  4. ปัญหาอุปสรรคอีกอันหนึ่งคือการที่ยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ต้องแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน เช่น ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลซึ่งมีส่วน ให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในทะเลจีนใต้เป็นต้น

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนผ่านการส่งเสริมการสร้างสันติภาพ เสรีภาพ และยึดหลักการของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เป็นหลัก ผ่านการร่วมมือกับประชาชนและประเทศสมาชิกในการสร้างประชาคมที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคง เพื่อให้อาเซียนเป็นกลไกในการร่วมแก้ไขปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเป็นตัวแทนในการเจรจาหาทางออกในประเด็นปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจากภัยคุกคามแบบดั้งเดิม (Traditional threats) อย่างความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการใช้กำลังอาวุธ และภัยคุกคามแบบใหม่ (non-traditional threats) อย่างเรื่องของความมั่นคง ของมนุษย์ด้วย

 

อ้างอิง

 

เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม

ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกหนึ่งเสาหลักสำคัญคือเสาหลักด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) ในการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่มีการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การแบ่งบัน และความเห็นอกเห็นใจในช่องว่างของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความที่มีคุณภาพและชีวิตที่มีคุณภาพ (quality of life) ด้วยกิจกรรมและความร่วมมือต่างๆ ที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-oriented) เป็นมิตรกับสิ่งแสดล้อม (environmentally friendly) และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (geared towards the promotion of sustainable development)

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนร่วมกัน ภายใต้กรอบของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) ที่เน้นในประเด็นสำคัญ 6 ด้าน คือ

  1. เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development) เช่น การให้ความสำคัญ กับการศึกษา การส่งเสริมความเป็นธรรมในการจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
  2. เพื่อให้มีการคุ้มครองและให้สวัสดิการทางสังคม (Social Welfare and Protection) เช่น การจัดการกับช่องว่างทางด้านความยากจนระหว่างชนชั้น การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ (human security) การสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) เป็นต้น
  3. เพื่อให้เกิดการรักษาสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) เช่น เรื่องของสิทธิสตรี เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ การคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น
  4. เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม (Ensuring Environmental Sustainability) เช่น การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ให้ยั่งยืน และการปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เป็นต้น
  5. เพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งอาเซียน (Building the ASEAN Identity) เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกันของวัฒนธรรมอาเซียน การรักษา บริการจัดการ และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น
  6. เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา (Narrowing the Development Gap)

รูปภาพโดย : http://www.m-society.go.th/asean/ewt_news.php?nid=39&filename=index

เมื่อกลับมาพิจารณาประเทศไทยกับบทบาทในด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เช่น ด้านการศึกษา ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนในด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2555 เพื่อติดตามความคืบหน้าและการดำเนินการในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างการโอนหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษาระหว่างกันของมหาวิทยาลัยในอาเซียน (ASEAN Credit Transfer System: ACTS) ภายใต้กรอบของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN)

ต่อเนื่องจากผลของ AUN ได้นำมาสู่การวางกรอบการประเมินคุณภาพกลางของมหาวิทยาลัย ในอาเซียนในชื่อ “เครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสมาชิกอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกันและลดช่องว่างในด้านการศึกษา

นอกจากนี้ ความร่วมมือของรัฐบาลและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (Civil society organization) ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมพร้อมประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยจากรายงานของ Siam Intelligence ได้กล่าวถึงปัญหาความร่วมมือของอาเซียนถูกดำเนินการโดยรัฐบาลในยุคสมัยต่างๆ และค่อนข้างขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางจากภาคประชาชน เนื่องจากอาเซียนยังมีกลไกที่ไม่ใคร่จะชัดเจนนัก ในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม

จึงนำมาสู่ข้อเสนอในเรื่อง “ภาคประชาสังคมอาเซียน” ภายใต้กรอบการประชุมอาเซียน ภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference: ACSC) ในงานประชุม ASEAN People Forum ซึ่งเวทีภาคประชาชนลักษณะนี้จะจัดคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ที่จัดขึ้นทุกปี และประสานงานผ่านการตั้งกลุ่ม Solidarity for Asian Peoples’ Advocacies (SAPA) เป็นความพยายามของภาคประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นในอาเซียน เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เพศสภาพ การค้า การลงทุน การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างเสาหลักของสังคมวัฒนธรรมอาเซียนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สำหรับตัวอย่างของหน่วยงานราชการไทยที่ได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน อย่างสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการนำเสนอ “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 2557-2559” โดยมีสาระสำคัญว่าด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal point) ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงต้องจัดทำยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย ผ่านภารกิจหลัก 7 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของอาเซียน
  2. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและ มีบทบาทนำในการสร้าง ความร่วมมือ ด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียน
  3. ส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิและมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน
  4. ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าว ในอาเซียน
  5. ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน
  6. เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างระดับการพัฒนา โดยเฉพาะมิติทางสังคมระหว่าง ประเทศสมาชิกเก่า 6 ประเทศและประเทศสมาชิกใหม่ (CLMV) และบางพื้นที่ในอาเซียน ที่โดดเดี่ยว และยังคงด้อยพัฒนา
  7. ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านบุคลากรในด้านองค์กร ในด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจึงไม่ใช่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อให้เกิด “อัตลักษณ์อาเซียน” ที่เน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนการรักษามรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันในอาเซียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขึ้น โดยก้าวผ่านข้อจำกัดในเรื่อง ของ “ชาตินิยม” ของแต่ละประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของอาเซียนภายใต้คำขวัญที่ว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (one vision, one identity, one community)

 

อ้างอิง