ไทยในกรอบอาเซียน

1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

บทบาทของประเทศไทยในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยประเทศไทยร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างสังคมที่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน สังคมที่มีเสถียรภาพ สันติภาพ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น โดยการผลักดันการแก้ไขปัญหาข้ามชาติและ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีสากล

บทบาทของไทยในด้านการเมืองและความมั่นคง

  1. เร่งให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน (ธันวาคม 2551)
  2. จัดตั้งและผลักดันการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR)
  3. รับรองและผลักดันการปฏิบัติตามแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
  4. ส่งเสริมให้คณะมนตรีของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีผลงานเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค
  5. ยกระดับบทบาทของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนในด้านการจัดการภัยพิบัติและความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการแก้ไข (Non-Traditional Security Threats)
  6. ผลักดันในสหรัฐฯ เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC)
  7. ผลักดันให้เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศและสร้างเสถียรภาพในอาเซียน
  8. ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นเขตปลอดอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง
  9. ส่งเสริมให้มีความโปร่งใสด้านนโยบายและข้อมูลทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  10. ส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกันในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
  11. ส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการอาเซียน

 

2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประเทศไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการประชุม และการลงนามในความตกลงที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและการส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดี่ยว มีการเคลื่อนย้าย เงินทุน สินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมือระหว่างรัฐสมาชิกโดนเสรี ส่งเสริมขีดความสามารถ ด้านการแข่งขันของอาเซียน ลดช่องว่างด้านการพัฒนาของรัฐสมาชิก โดยประเทศไทยยังมีบทบาทด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ดังต่อไปนี้

  • การเสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)
  • การเสนอให้เร่งรัดจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit)
  • การส่งเสริมการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI)
  • การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี
  • การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าและเส้นทางการท่องเที่ยวในประชาคมอาเซียน
  • การสนับสนุนความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมการผลิตและอุตสาหกรรม

 

3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

นับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2510 นั้น ประเทศไทยได้สนับสนุนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านสารสนเทศ ด้านการพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ด้านสังคม ประเทศไทยได้สร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรข้ามชาติ การค้ามนุษย์
  • ด้านการศึกษา ประเทศไทยได้เข้าร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) ซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการในภูมิภาค
  • ด้านการสาธารณสุข ประเทศไทยได้สร้างความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง
  • ด้านสารสนเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมการก่อตั้งสภาบรรณารักษ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Congress of Southeast Asian Librarians: CONSAL)
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้ผลักดันโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Subregional Environment Programme I)
  • ด้านอื่นๆ เช่น การสนับสนุนความร่วมมือด้านกีฬาซีเกมส์ การประกวดวรรณกรรมซีไรต์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นต้น

 

อ้างอิง

  • - กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ