ภารกิจที่เกี่ยวข้องด้านอาเซียน

รูปภาพโดย : http://www.dla.go.th/servlet/TemplateNewsServlet?_mode=detail&id=37316#1

ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาและให้คำปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารบุคคล การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ ในการให้บริการสาธารณะ

เมื่อประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน จึงได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อม การสร้างองค์ความรู้ การสร้างความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับประเทศอาเซียน และประชาคมอาเซียน ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างศักยภาพ ในการปฏิบัติงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีภารกิจที่เกี่ยวข้องด้านอาเซียน ดังนี้

  1. การให้คำแนะนำและแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการบูรณาการการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยให้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะที่โดนเด่น และมีความแตกต่างกันของพื้นที่ เช่น กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านการค้าและการลงทุน เป็นต้น เพื่อใช้เป็นทิศทางในการพัฒนาการดำเนินงานของท้องถิ่น ด้านการบริหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาลให้กับประชาชน
    1. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดแนวทางการพัฒนาเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้พัฒนาระบบคมนาคม การไฟฟ้า การพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบน้ำประปา 2) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ 3) ด้านการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเตรียมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ 4) ด้านการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันกับท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
    2. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมในพื้นที่ชั้นใน กล่าวคือ กลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีพื้นที่ชั้นในเข้ามาจากพื้นที่ชายแดน โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะต้องปรับปรุงโครงสร้างระบบคมนาคมให้มาตรฐานสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด 2) ด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการพลังงานและการใช้พลังงานทางเลือก 3) ด้านบริการ ได้แก่ การบริการทางด้านจราจร การบริการที่ทันสมัยและสะดวกต่อประชาชน
    3. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน ได้มีคำแนะนำ ในการดำเนินการเตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME 2) ด้านการพัฒนาบุคลกร โดยพัฒนาขีดความรู้ ระเบียบวิธีการค้า และศุลกากรเพื่อรองรับการค้าชายแดน 3) ด้านการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า โดยสนับสนุนด้านข้อมูล ข้อเสนอแนะแก่เอกชน 4) ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น การสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 5) ด้านการเผยแพร่ข้อมูล โดยเร่งรัดให้มีการจัดทำระบบโปรแกรมแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน
    4. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ได้มีคำแนะนำในการดำเนินการเตรียมความพร้อมใน 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นระบบและมีคุณภาพ เช่น การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) 2) ด้านการประชาสัมพันธ์และการอำนวยความสะดวก โดยการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ด้านระเบียบกฎหมาย การจราจรให้กับนักท่องเที่ยว
    5. กลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านการศึกษา กำหนดแนวทาง การพัฒนาเป็น 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาขีดความสามารถภาษาอังกฤษและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน การสนับสนุนสถาบันทางการศึกษาในการพัฒนาเยาวชน 2) ด้านการพัฒนาช่องทางในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยการพัฒนาระบบการสื่อสารและการเผยแพร่ 3) ด้านการศึกษา เช่น การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักเรียน เป็นต้น
    6. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านสาธารณสุข กำหนดแนวทาง เพื่อเตรียมความพร้อมจากการเคลื่อนย้ายของประชากรสูง โดยให้ดำเนินการด้านสุขอนามัยขั้นมูลฐาน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการวางแผนรองรับการเข้ามาของแรงงานและนักท่องเที่ยว อีกทั้งกำหนดมาตรการการตรวจเยี่ยมแหล่งเสื่อมโทรมที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพและยาเสพติด
    7. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ แหล่งน้ำ มลพิษทางอากาศ ตลอดจนการรุกรานที่ดินทำกิน โดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติและเทศบัญญัติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
    8. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมด้านอัตลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมความสัมพันธ์กันในระดับชุมชนท้องถิ่นที่ต้องยอมรับในอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ชุมชน และอัตลักษณ์อาเซียน
  2. การให้คำแนะนำและแนวทางด้านการเงินและการคลังแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณเฉพาะกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมุ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการด้านการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปใช้ ในโครงการเตรียมความพร้อม เช่น ด้านโครงสร้าง ด้านบุคลากร ด้านการศึกษา หรือด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
  3. การเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะและองค์ความรู้ของบุคลากรกรมและบุคลกรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและการปรับปรุง พัฒนาการปฏิบัติงาน เช่น การจัดอบรมการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรภายในกรม การจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

    นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานศึกษาและสถานประกอบการในท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ถูกต้อง เช่น การจัดอบรมเผยแพร่ความรู้อาเซียนให้กับชุมชน การจัดศูนย์อาเซียนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูล และ การจัดกิจกรรมสัปดาห์อาเซียน เป็นต้น

    1. การจัดบรรยายทางวิชาการแก่บุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในหัวข้อ “การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกับการปกครองท้องถิ่นไทย” ตามโครงการเพิ่มพูนความรู้สู่ประชาคมอาเซียน ประจำปี 2555
    2. การจัดมุมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกเพื่อให้บริการแก่บุคลากร ในห้องสมุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    3. โครงการสัมมนาติดอาวุธทางการค้าแก่ผู้บริหารระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เรื่อง “จังหวัดและท้องถิ่นพร้อมรุก-ปรับรับอาเซียน : AEC” ผู้เข้ารับการสัมมนาประมาณ 1500 คน
    4. โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยผู้บริหารหรือข้าราชการกรม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัด ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 450 คน
    5. โครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและทักษะภาษาประเทศเพื่อนบ้านให้กับข้าราชการ
    6. โครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาคมอาเซียน ดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 3 รุ่น รวม 150 คน
    7. โครงการฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (วิทยากร ครู ก. อาเซียน) ดำเนินโครงการฝึกอบรมจำนวน 2 รุ่น รวม 237 คน
    8. โครงการจัดพิมพ์โปสเตอร์เผยแพร่ข้อมูลการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยการจัดพิมพ์โปสเตอร์เผยแพร่ข้อมูลการเตรียมความพร้อม จำนวน 50000 แผ่น และแจกจ่ายให้แก่ สำนัก/กองในสังกัด สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด 76 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    9. โครงการพัฒนาข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2559 ช่วงที่ 1 – การฝึกอบรม ช่วงที่ 2 – การสัมมนาและการศึกษาดูงาน ช่วงที่ 3 – การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ส่วนกลาง) และท้องถิ่นจังหวัด
  4. การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน ดังนี้
    1. สนับสนุนและพัฒนา “หลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน” ให้ใช้ในโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา
    2. ส่งเสริมให้มี “ศูนย์อาเซียนศึกษา” ในโรงเรียนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนสู่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่
    3. สนับสนุนโครงการอบรมครูและบุคลากรในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความรู้และความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
    4. ส่งเสริมการเรียนรู้อัตลักษณ์อาเซียนและการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับนักเรียน ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป
  5. การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีความทันสมัยเพื่อให้ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กล่าวคือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เช่น จำนวนครัวเรือน จำนวนถนน แหล่งน้ำ เป็นต้น ข้อมูลด้านสังคม เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น ตลอดจนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถสะท้อนถึงจุดแข็ง จุดอ่อนของพื้นที่ ได้เป็นอย่างดีด้วย 
  6. โครงการพัฒนาข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (กองการเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)

อ่านเพิ่มเติม สรุปผลโครงการพัฒนาข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน