รูปภาพโดย : https://wiki.stjohn.ac.th/groups/aec/wiki/d2461/
ประชาคมอาเซียน (ASEAN community) เป็นความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ เช่น ความร่วมมือในโครงการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion Cooperation, GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chaophraya-Makong Economic Cooperation Strategy, ACMECS) และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor, EWEC) เป็นต้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนอาเซียนมาตั้งแต่สมัยการมีข้อตกลง “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ที่เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์สำคัญอันนำมาสู่ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน ว่าไทยจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งนำมาสู่คำถามหลัก 2 ข้อว่า
คำถามที่หนึ่ง : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบถึงการมีอยู่ของประชาคมอาเซียน และเงื่อนไข กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคม มากน้อยแค่ไหน
คำถามที่สอง : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคมในประชาคมอาเซียนได้อย่างไร และจะบรรลุเป้าหมายในการดูแลประชาชนในท้องถิ่นภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ที่มี 5 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
-
การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
-
การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบบริหารจัดการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีสมรรถนะสูง
-
การส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น
-
การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่การเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน
-
การส่งเสริมศักยภาพและความสงบเรียบร้อยของชุมชน
ด้วยเหตุนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความร่วมมือด้านต่างๆ หลังจากการเปิดประชาคมอาเซียน ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการเมืองการปกครองภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ การปกครองท้องถิ่น (local government) ที่เป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับชีวิตประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ทั้งในด้านของการจัดบริการสาธารณะ อำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น และการดูแลในเรื่องของสวัสดิภาพและความมั่นคง ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับรูปแบบการบริหารงาน แผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาคมอาเซียน อาจสรุปได้ดังนี้
-
การปรับตัวด้านการติดต่อสื่อสาร
-
ด้านข้อมูล: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วและรอบด้านเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลง เงื่อนไข และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาทำกิจกรรมในท้องถิ่นสำหรับการบริการสาธารณะ
-
ด้านภาษาอังกฤษ: บุคลากรต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน และต้องสามารถทำงานกับเอกสารภาษาอังกฤษได้ ทั้งในทางราชการและทางด้านการหาความรู้
-
ด้านภาษาในประเทศสมาชิกอาเซียน: ควรมีการจัดอบรมเพิ่มเติมสำหรับภาษาอื่นๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อความสะดวกในการประสานงานระหว่างกัน
-
การสร้างศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสังคมระดับท้องถิ่น (local socio-economic development) เพื่อรองรับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (economic connectivity) เพื่อประโยชน์ในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาท้องถิ่นอย่างบูรณาการ
-
วางแนวทางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรอบรับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เช่น คมนาคม ขนส่ง ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
-
วางแนวทางในการเคลื่อนไหวทางด้านแรงงาน ภายในและระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อกำหนดทางเศรษฐกิจและความมั่นคง
-
วางแนวทางสำหรับการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
-
วางแนวทางในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรธรรมชาติ
-
วางแนวทางในการสร้างเครือข่ายสังคมปลอดภัย (social safety net) เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ
-
การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่เขตแดนติดกับประเทศสมาชิกอาเซียน จะต้องมีศูนย์ในการประสานงานกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่ เช่น การประสานงานทางเอกสารทางราชการ การอำนวยความสะดวกในการลงทุนระดับท้องถิ่น เป็นต้น
-
การจัดการด้านวัฒนธรรมประเพณี เพื่อทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และพร้อมเปิดรับความแตกต่างดังกล่าวด้วยไมตรีมิตร เช่น การจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้านอาเซียนในระดับท้องถิ่น การมีกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมอาเซียนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น เป็นต้น
-
การจัดการด้านความมั่นคงอย่างบูรณาการ เนื่องจากการเข้ามาของแรงงานอพยพและเงินทุนจากนอกพื้นที่ไหลเข้ามาดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจต้องประสานงานกับหน่วยงานส่วนกลางในการจัดการความมั่นคงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นภาพว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจต้องมีการปรับตัวและวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น “ฐานข้อมูล” เกี่ยวกับอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมพร้อมดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในท้องถิ่นให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ที่มา : วีระ หวังสัจจะโชค
อ้างอิง :