ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ที่ร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) เมื่อ พ.ศ. 2510 โดยประเทศไทยมีบทบาทอย่างแข็งขัน ในการผลักดันโครงการและกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศคู่เจรจา และประเทศอื่น ๆ ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และการเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในประเทศสมาชิก ด้านการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีภารกิจหลักในการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พัฒนาการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงิน และการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการจัดการบริการสาธารณะในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีแผนงานและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับองค์กรระหว่างประเทศ และการพัฒนาบุคคลกรให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้ใกล้ชิดดูแลประชาชน ได้มีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้รับมือกับความท้าทายในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการจัดการปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ภายหลังที่ 10 ประเทศสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ได้ประกาศการเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา โดยประชาคมอาเซียนนั้นจะประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อันจะส่งผลให้เกิดปฏิสัมพันธ์ข้ามขอบเขตพรมแดนรัฐเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
พิธีการทูตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ตลอดไปจนถึงการสร้างความร่วมมือและยุติความขัดแย้งผ่านการเจรจาต่อรองด้วยสันติวิธี การดำเนินการทางการทูตมิเป็นเพียงแค่การเชื่อมหรือรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ แต่ยังคงเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครอง ปกปักรักษา แสดงจุดยืน ส่งเสริมและพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีทางการทูตเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้สนใจ ดังนี้
1. พิธีการทูตทั่วไป
2. แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการเยี่ยมคารวะของแขกต่างประเทศ
3. การพัฒนาศักยภาพด้านการต่างประเทศของบุคลากรกระทรวงมหาดไทย เพื่อรองรับการเป็นประธานอาเซียน : หลักพิธีการทูตและการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ (Protocol Training Course)
4. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ติดต่อ ประสานงาน (Liaison Officer)
5. การเลี้ยงรับรองทางการทูต มรรยาททางสังคมและการแต่งกาย
6. ประเภทของความตกลงระหว่างประเทศและหลักปฏิบัติของการลงนามระหว่างประเทศ
7. หลักพิธีการทูต การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ
8. แนวทางการจัดพิธีลงนามสนธิสัญญา (Guidelines on Treaty Signing Ceremony)
9. การรับรองการเยือนแบบทวิภาคีและการรับรองการเยือนแบบพหุภาคี (การจัดการประชุมระหว่างประเทศ)
10. สำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ