ประธานอาเซียน

 

รูปภาพโดย : vovworld

กฎบัตรอาเซียน กำหนดไว้ในหมวดที่ 10 เรื่องการบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน ในข้อที่ 31 ว่าด้วยประธานอาเซียน โดยจะมีการหมุนเวียนตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นประจำทุกปี ตามลำดับตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก โดยนับตามปีปฏิทินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม เป็นประจำทุกปี หากตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนั้นเป็นของประเทศใด ประเทศนั้นต้องทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุม สุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง คณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องตามที่เหมาะสม และคณะกรรมการผู้แทนถาวร

โดยประธานอาเซียนมีบทบาทในการส่งเสริมเพิ่มพูนผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน อย่างแข็งขัน รวมถึงความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ และจะต้องสร้างความมั่นใจในการเป็นศูนย์รวมของอาเซียน การตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที รวมถึงเป็นคนกลาง ที่น่าเชื่อถือ และจัดให้มีการจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อสนองตอบข้อกังวลที่เกิดขึ้นดังกล่าวโดยทันที นอกจากนี้ประธานอาเซียนต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น รวมทั้งปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน ในปี พ.ศ. 2551 มีประเทศที่เคยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ดังนี้

  1. ราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2551 - 2552
  2. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี พ.ศ. 2553
  3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปี พ.ศ. 2554
  4. ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี พ.ศ. 2555
  5. บรูไนดารุสซาลาม ปี พ.ศ. 2556
  6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ปี พ.ศ. 2557
  7. สหพันธรัฐมาเลเซีย ปี พ.ศ. 2558
  8. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี พ.ศ. 2559
  9. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ. 2560
  10.  สาธารณรัฐสิงคโปร์ ปี พ.ศ. 2561
  11. ราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2562
  12. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี พ.ศ. 2563
  13. เนอการาบรูไนดารุซซาลาม ปี พ.ศ. 2564

 

 

 

ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก

  • http://www.asean.org/asean/asean-chair/