รูปภาพโดย : vovworld
กฎบัตรอาเซียน กำหนดไว้ในหมวดที่ 10 เรื่องการบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน ในข้อที่ 31 ว่าด้วยประธานอาเซียน โดยจะมีการหมุนเวียนตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นประจำทุกปี ตามลำดับตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก โดยนับตามปีปฏิทินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม เป็นประจำทุกปี หากตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนั้นเป็นของประเทศใด ประเทศนั้นต้องทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุม สุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง คณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องตามที่เหมาะสม และคณะกรรมการผู้แทนถาวร
โดยประธานอาเซียนมีบทบาทในการส่งเสริมเพิ่มพูนผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน อย่างแข็งขัน รวมถึงความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ และจะต้องสร้างความมั่นใจในการเป็นศูนย์รวมของอาเซียน การตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที รวมถึงเป็นคนกลาง ที่น่าเชื่อถือ และจัดให้มีการจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อสนองตอบข้อกังวลที่เกิดขึ้นดังกล่าวโดยทันที นอกจากนี้ประธานอาเซียนต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น รวมทั้งปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย
นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน ในปี พ.ศ. 2551 มีประเทศที่เคยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ดังนี้
-
ราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2551 - 2552
-
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี พ.ศ. 2553
-
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปี พ.ศ. 2554
-
ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี พ.ศ. 2555
-
บรูไนดารุสซาลาม ปี พ.ศ. 2556
-
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ปี พ.ศ. 2557
-
สหพันธรัฐมาเลเซีย ปี พ.ศ. 2558
-
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี พ.ศ. 2559
-
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ. 2560
-
สาธารณรัฐสิงคโปร์ ปี พ.ศ. 2561
-
ราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2562
-
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี พ.ศ. 2563
-
เนอการาบรูไนดารุซซาลาม ปี พ.ศ. 2564
ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก
-
http://www.asean.org/asean/asean-chair/