เลขาธิการอาเซียน

        กฎบัตรอาเซียนบัญญัติไว้ในข้อ 11 เรื่อง เลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน ว่า เลขาธิการอาเซียนมีที่มาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้ เลขาธิการอาเซียนต้องมาจากพลเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก โดยจะพิจารณาจากคุณสมบัติบุคคลผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถ มีประสบการณ์ทางวิชาชีพ และคัดเลือกด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศ

 
        บทบาทและหน้าที่ของเลขาธิการอาเซียน คือ ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎบัตรอาเซียน รวมทั้งตราสาร พิธีสาร และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการปฏิบัติตามความตกลงและข้อตัดสินใจของอาเซียน รวมทั้งเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยเลขาธิการต้องเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา และการประชุมอาเซียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนต้องเสนอข้อคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมประชุมกับภาคีภายนอกตามแนวนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบและตามอำนาจหน้าที่ที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมาย และเสนอแนะการแต่งตั้งและการพ้นจากหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียนต่อคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อให้ความเห็นชอบ
 
        ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอาเซียน ซึ่งมีรองเลขาธิการอาเซียน 4 คน มีชั้นและสถานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้รองเลขาธิการอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามวาระ วาระละ 3 ปี ซึ่งรองเลขาธิการอาเซียนทั้ง 4 คน แต่ละคนต้องมีสัญชาติ ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนและเจ้าหน้าที่ทุกคนในสำนักเลขาธิการอาเซียนต้องยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์สุจริต ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ต้องไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือภาคีภายนอกอาเซียนใด ๆ ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียนซึ่งรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยอมรับที่จะเคารพต่อความรับผิดชอบของเลขาธิการและเจ้าหน้าที่อันมีลักษณะเฉพาะของอาเซียน และจะไม่แสวงหาที่จะมีอิทธิพลต่อเลขาธิการอาเซียนและเจ้าหน้าที่อื่นใดในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น
 
        นอกจากนั้น กฎบัตรอาเซียนข้อ 13 ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ และเป็นหน่วยงานระดับชาติที่จะเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียน และประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตัดสินใจของอาเซียน ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการประชุมอาเซียน รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ และมีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียนด้วย
 
        ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2551 มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากประเทศไทย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2551 – 2555 / ค.ศ. 2008 – 2012  และเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน คือ นายเล เลือง มิงห์ (Le Luong Minh) จากประเทศเวียดนาม โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

 

รายชื่อเลขาธิการอาเซียน

 

1. เอช. อาร์ ดาร์โซโน (H. R. Darsono) สัญชาติ อินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 7 มิถุนายน 2519 - 18 กุมภาพันธ์ 2521
 

2. อูมาร์จาดี โนโตวิโจโน (Umarjadi Notowijono) สัญชาติ อินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2521 – 30 มิถุนายน 2521
 

3. ดาตุ๊ก อาลี บิน อับดุลลาห์ (Datuk Ali Bin ABdullah) สัญชาติ มาเลเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 10 
กรกฎาคม 2521 – 30 มิถุนายน 2523
 

4.นาร์ซิสโซ จี. เรเยส (Narcisco G. Reyes) สัญชาติ ฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1
 กรกฎาคม 2523 – 15 กรกฎาคม 2525
 

5. ฉาน กาย เยาว์ (Chan Kai Yau) สัญชาติ สิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2525 – 15 กรกฎาคม 2527

 

6. แผน วรรณเมธี (Phan Wannamethee) สัญชาติ ไทย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 16 กรกฎาคม 2529 – 15 กรกฎาคม 2532

 

7. รอดเดอริค ยอง (Roderick Yong) สัญชาติ บรูไน ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 16 กรกฎาคม 2529 – 16 กรกฎาคม 2532

 

8. รัสลี นูร์ (Rusli Noor) สัญชาติ อินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 17 กรกฎาคม 2532 – 1 มกราคม 2536

 

9. ดาโต๊ะ อาจิต ซิงห์ (Dato Ajit Singh) สัญชาติ มาเลเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1 มกราคม 2536 – 31 ธันวาคม 2540

 

10. โรดอฟโฟ ซี. เซเวอรีโน จูเนียร์ (Rodolfo C. Severio Jr.) สัญชาติฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1 มกราคม 2541 – 31 ธันวาคม 2545
 

11. ออง เค็ง ยอง (Ong Keng Yong) สัญชาติสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1 มกราคม 246 – 31 ธันวาคม 2550

 

12. สุรินทร์ พิศสุวรรณ (Surin Pitsuwan) สัญชาติไทย ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1 มกราคม 2551 – 31 ธันวาคม 2555

 

13. เล เลือง มิงห์ (Le luong Minh) สัญชาติ เวียดนาม ดำรงตำแหน่งระหว่าง
วันที่ 1 มกราคม 2556 – 31 ธันวาคม 2560

14. นายลิ้ม จ็อก ฮอย (Lim Jock Hoi) สัญชาติ บรูไน ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่

1 มกราคม 2561 - 31 ธันวาคม 2565

 

 

 

ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก

    • อัครพงษ์ ค่ำคูณ ในหนังสือ 50 คำ กุญแจไขอาเซียน