การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ก็คือ การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ของประเทศสมาชิกที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งความได้เปรียบดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเกิดการเชื่อมโยงกันในมิติต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก อันจะส่งผลให้การไหลเวียนของทรัพยากรต่างๆ ภายในภูมิภาคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ด้วยเหตุผลข้างต้น ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 จึงมีมติให้ความเห็นชอบ “แผนแม่บทการเชื่อมโยงกันในอาเซียน” หรือ Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) ซึ่งครอบคลุม 84 มาตรการ ภายใต้ 19 กลยุทธ์ ที่จะช่วยเพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกใน 3 มิติ คือ การเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) การเชื่อมโยงระดับสถาบัน (Institutional Connectivity) และการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล (people-to-people connectivity)

ความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity)

ความเชื่อมโยงทางกายภาพ หมายถึง การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านพลังงาน

  1. ด้านการขนส่ง – โครงข่ายด้านการคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญของแผนแม่บทฉบับนี้ ประกอบด้วย การสร้าง และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่โยงประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศนอกภูมิภาคเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพปลอดภัย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการในลำดับต้น คือ โครงการทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network - AHN) เป็นเครือข่ายเส้นทางถนนเชื่อมโยงประเทศสมาชิกเป็นระยะทางทั้งสิ้น 38,000 กิโลเมตร และโครงการรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง เชื่อมโยง 8 ประเทศ ส่วนการคมนาคมทางอากาศ เน้นการปรับปรุงระบบการบิน พัฒนาคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับ การขนส่งทางอากาศ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางการบินใหม่ที่เหมาะสม
  2. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร – เป็นการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม และซอฟแวร์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการลงทุน และการเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การจัดตั้ง ASEAN Broadband Corridor
  3. ด้านพลังงาน – เป็นการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงาน ของอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน การสร้างแนวท่อก๊าซธรรมชาติในอาเซียน การใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (Institutional Connectivity)

ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (Institutional Connectivity) หมายถึง การเชื่อมโยงในด้านกฎ ระเบียบต่าง ๆ ผ่านการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ และความตกลงภูมิภาค รวมทั้งพิธีสาร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุนอย่างเสรี การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ และการพัฒนามนุษย์ และการข้ามพรมแดน อาทิ กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น

ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน (People – to – people Connectivity)

การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เน้นการเชื่อมโยงด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และการเชื่อมโยง ด้านการท่องเที่ยว

  1. ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ – มีความร่วมมือใน 4 ด้านที่มีความสำคัญสูง ได้แก่ การส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเฃียนในหมู่พลเมือง โดยเฉพาะเยาวชน การเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ผ่านการศึกษา การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนในสาขาการศึกษา การเสริมสร้างการสร้างเครือข่าย ของมหาวิทยาลัยอาเซียน
  2. ด้านวัฒนธรรม – จะส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความแตกต่างในมรดกทางวัฒนธรรมภายในอาเซียน เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน สื่อสารมวลชน และนักศึกษา
  3. ด้านการท่องเที่ยว – แผนงานด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนระหว่าง ปี 2547 – 2553 ได้พยายามส่งเสริมอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว แม้จะประสบความสำเร็จที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไขร่วมกัน กล่าวคือ การจัดทำข้อกำหนดการตรวจลงตราให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การใช้ระบบประกันภัยประเภทที่ 3 แก่นักท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงมาตรการว่าด้วย “อาเซียนหน้าต่างเดียว” หรือ ASEAN Single Window ที่จะอำนวยความสะดวกด้วยระบบและมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค สำหรับการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล ก็มีการเตรียมใช้แผนการตลาดการท่องเที่ยวภายในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “อาเซียนเพื่ออาเซียน”

 

ที่มา : แก้ไขเพิ่มเติมจาก

  • พิภพ อุดร ในหนังสือ 50 คำ กุญแจไขอาเซียน
  • - แผนแม่บทการเชื่อมโยงกันในอาเซียน (ภาษาไทย)
  • - แผนแม่บทการเชื่อมโยงกันในอาเซียน (ภาษาอังกฤษ)