ปักหมุดผลลัพธ์ความร่วมมืออาเซียน 4 ประการ


 
วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 19.30 น. ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลักคือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งมุ่งหวังให้อาเซียนก้าวสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ ความร่วมมือของอาเซียนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4 ประการ
 
-ประการที่หนึ่ง ประชาชนจะมีความมั่นคงที่ยั่งยืนมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง อาเซียนได้วางรากฐานความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้นำหลักการภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) มาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และจัดตั้งกลไกแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับผู้พลัดถิ่น
 
-ประการที่สอง ความร่วมมือของอาเซียนในปีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเกี่ยวกับอาร์เซ็ป เป็นการผลึกกำลังของกลุ่มประเทศซึ่งมี GDP รวมกันร้อยละ 32 ของโลก มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึงร้อยละ 30 ของการค้าโลก โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมโยง ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศในปีนี้ การริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน จะทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันยุทธศาสตร์เชื่อมโยงความเชื่อมโยง ซึ่งอาเซียนได้ประกาศโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน 19 โครงการ ที่ธนาคารโลกได้พิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความสนใจร่วมลงทุน
 
-ประการที่สาม อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การต่อต้านขยะทะเล, การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน, การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการสนับสนุนให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในปี 2577 ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอาเซียนมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอาเซียนร่วมกัน
 
-ประการที่สี่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนสำหรับเป็นแนวทางการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างความยั่งยืนในอาเซียนต่อจากนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมี 3Cs ได้แก่ 1) Continuity 2) Complementarity และ 3) Creativity
ทั้งนี้ เป้าหมายในหลาย ๆ ด้านไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในปีเดียว จึงต้องมี C ตัวแรก คือ Continuity กับข้อริเริ่มที่สำคัญจากปีก่อน ๆ เพื่อให้สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยอาศัย C ตัวที่สอง คือ Complementarity ความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มที่เกื้อกูลกันในอาเซียน สุดท้ายต้องใช้ C ตัวที่สาม คือ Creativity ในการแก้ปัญหาที่คั่งค้างและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอย่างสร้างสรรค์
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีอวยพรให้เวียดนามและอาเซียนประสบความสำเร็จต่อไปในปีหน้า
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน