ไฮสปีดไทย จีน เปิดประตูเชื่อม 3 ประเทศ


โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และจีน ที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาค มีมูลค่าการค้าและการลงทุนสูง
 
อีกทั้งโครงการความร่วมมือพัฒนาไฮสปีดเทรนสายนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Bet One Road เป็นเสมือนประตูการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และจีน ให้เกิดความสะดวก ส่งเสริมการขนส่งและการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค
 
โดยโครงการไฮสปีดไทย – จีน เริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ซึ่งมีความก้าวหน้าภาพรวม 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571ขณะเดียวกันนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมนำทีมผู้บริหารฝ่ายไทยร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7 - 8 พ.ค. 2567 และนับเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี
 
ซึ่งการเดินทางไปเยือนปักกิ่งครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นการเจรจาร่วมโต๊ะการประชุมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ได้มีการเดินทางมาร่วมการประชุม เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลให้ฝ่ายไทยและจีนไม่ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล Video Conference
 
สำหรับเป้าหมายของการหารือครั้งนี้ ฝ่ายไทยจะติดตามความคืบหน้างานก่อสร้าง ความร่วมมือระหว่างไทย - จีน รวมทั้งจะแสดงความมั่นใจถึงการผลักดันโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระบบราง 3 ประเทศ ไทย - ลาว - จีน ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
 
 
 
 
 
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1125294

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ