รถไฟความเร็วสูงจีน - ลาว เส้นทางเชื่อมสู่อาเซียน


 
    จีนและ สปป.ลาวมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่นมายาวนาน โดยต่างให้ความร่วมมือกันในหลายด้าน รวมถึงการช่วยเหลือด้านการค้าสินค้าและการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนับตั้งแต่ สปป.ลาวมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 2532 จนถึงปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวมากที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสะสมทั้งหมดใน สปป.ลาว
    ล่าสุดจีนได้ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิงของจีนและนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ในสัดส่วนสูงถึง 70% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีนที่ต้องการเชื่อมโยงการขนส่งภายในอาเซียน ปัจจุบันเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งจะทำให้การขนส่งจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สอดคล้องกับที่ทางการ สปป.ลาว คาดว่าการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังชายแดนของจีนจะมีต้นทุนลดลงเมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนราว40% และ 70% ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งระหว่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ
    เป็นที่น่าสังเกตว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิงไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ รายล้อมด้วยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใน สปป.ลาวที่นักลงทุนจีนเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ อาทิ 1) เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น บ่อหาน แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าและแหล่งธุรกิจบันเทิงที่มีชื่อเสียงของ สปป.ลาว อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก 2) เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อแก้ว ปัจจุบันเป็นศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์รวมธุรกิจบันเทิง อาทิ กาสิโน และศูนย์การค้า ซึ่งในระยะถัดไปผู้พัฒนาโครงการมีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจการแพทย์ สปา และสนามกอล์ฟ มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563
    นอกจากนี้ ในแขวงบ่อแก้วยังมีโครงการ "นาคราชนคร" ซึ่งเป็นศูนย์รวมธุรกิจครบวงจรที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการไทย ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ในเมืองห้วยทรายใน สปป.ลาว และอีก 25 ไร่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ 3) เขตเศรษฐกิจเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์-โนนทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตและแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของ สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม Vita Park ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนแล้วหลายราย โดยนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องปรุงรส เภสัชภัณฑ์ และสิ่งทอ รวมถึงการผลิตอาหารสัตว์ ขณะที่นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์
    โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนและ สปป.ลาว จะนำมาซึ่งโอกาสทางการค้าการลงทุนในหลายมิติ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างมากจากโครงการรถไฟฯดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนตามแนวรถไฟความเร็วสูงใน สปป.ลาว เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่นักลงทุนไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายฐานการผลิตเข้าไปใน สปป.ลาว โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ตามแนวรถไฟ เพื่อรองรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดจีน
    นอกจากนี้ ในระยะถัดไปรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเชื่อมต่อมายังไทยและสามารถเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และการขนส่งที่สำคัญเชื่อมกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียนเข้าไว้ด้วยกันในอนาคต
 
 
 
 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ