แรงงานอาเซียน


 
    หนึ่งในจุดแข็งของอาเซียนที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คือ อาเซียนมีคนทำงานในวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก และมีค่าจ้างที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
    แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงปัญหาอะไรที่จะทำให้อาเซียนไปไม่ถึงเป้าหมายความมั่งคั่งของประชาคมอาเซียน ปัญหาที่มาเป็นอันดับต้นๆ จะเป็นปัญหาแรงงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการศึกษา คุณภาพแรงงาน การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานคุณภาพต่ำ ที่ส่งผลทางเศรษฐกิจและสืบเนื่องมาเป็นปัญหาสังคมและปัญหาสิทธิมนุษยชน
    จากข้อมูลของธนาคารโลกและ International Labor Organization (ILO) พบว่าประชากรอาเซียนที่อาศัยอยู่นอกประเทศเกิดของตนมีถึง 21.3 ล้านคน และประมาณ 6.8 ล้านคน อาศัยและทำงานอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจำนวนแรงงานอาเซียนที่เคลื่อนย้ายในภูมิภาคทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายรวมกันอาจจะสูงกว่านี้ได้ถึงเท่าตัว
    แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบร้อยละ 90 ของแรงงานที่เคลื่อนย้ายภายในภูมิภาคนี้ เป็นแรงงานทักษะต่ำ หรือแรงงานไร้ฝีมือ และเลือกออกนอกประเทศเพราะต้องการหนีความจน
    ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และบรูไน ถือว่าเป็นประเทศที่รับแรงงาน แรงงานอาเซียนส่วนใหญ่ที่เข้ามาที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน จะเข้ามาในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมตามลำดับ แต่สำหรับประเทศไทย แรงงานอาเซียนที่เข้ามาร้อยละ 41 จะไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคบริการและภาคการเกษตรนั้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ราวร้อยละ 31 และ 28 ตามลำดับ
    สำหรับประเทศที่ส่งออกแรงงานนั้น แต่ละประเทศไปที่ใดบ้าง
    แรงงานเมียนมา กัมพูชา และลาวส่วนใหญ่มาที่ไทย สำหรับแรงงานเวียดนามซึ่งถือว่ามีการส่งเงินกลับประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียนนั้น เปรียบเทียบปลายทางภายในอาเซียนนั้น นับว่าแรงงานเวียดนามเดินทางไปมาเลเซียเป็นจำนวนมากที่สุด
    แล้วทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้
    แรงงานเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องเป็นวาระแห่งภูมิภาคเลยทีเดียว
    เพราะหากแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล และไม่ได้รับการพัฒนาฝีมือให้เป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในปัจจุบัน จะเกิดผลเสียทั้งประเทศผู้รับและผู้ส่งแรงงาน
    ผู้ประกอบการในประเทศที่เป็นฝ่ายรับแรงงานจะติดกับดักตัวเอง มีแรงจูงใจในการใช้แรงงานต้นทุนต่ำ ด้อยทั้งคุณภาพและผลิตภาพ เมื่อติดกับดักตัวเองแบบนี้ การปรับระบบการผลิตมาสู่เทคโนโลยีก็เป็นเรื่องยาก ในขณะที่โลกเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่ผู้ประกอบการยังเลือกใช้แต่แรงงานเป็นหลัก
    สำหรับประเทศผู้ส่งแรงงาน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ที่ออกนอกประเทศเพราะหนีความจน มาสู่โอกาสที่คิดว่าดีกว่า สุดท้ายประเทศเหล่านี้ก็จะพบปัญหา Labor Drain และ Brain Waste ในระยะยาว ซึ่งหมายถึงแรงงานในประเทศที่มีคุณภาพหายาก ในขณะที่ประเทศปลายทางไม่ดูแลและพัฒนาแรงงานอย่างดีเท่าที่ควร ถือเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาระยะยาวของประเทศ
 
 
 
 

ที่มา:โพสต์ทูเดย์