ถอดบทเรียนฟื้นฟูกิจการ Japan Airlines จากขาดทุนแสนล้าน สู่กำไรต่อเนื่องนับสิบปี


 
Japan Airlines (JAL) เป็นหนึ่งในสายการบินที่เคยผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของญี่ปุ่นมาแล้ว และประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นจากที่ขาดทุนกว่า 133,700 ล้านเยนในปี 2010 มาเป็นกำไรต่อเนื่องตลอดนับแต่ปี 2011 เป็นต้นมา
 
กว่าที่ Japan Airlines จะสามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไรเช่นนี้ได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่แสนเจ็บปวด เจ้าหนี้ต้องยอมยกหนี้ให้กว่า 87.5% ผู้ถือหุ้นเก่าทั้งหมดเห็นมูลค่าหุ้นในมือกลายเป็น 0 รวมถึงพนักงานเกือบ 1 ใน 3 ต้องออกจากองค์กร ส่วนคนที่เหลือก็ต้องยอมลดเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ที่เคยได้
 
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการพลิกฟื้นองค์กรให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง เพราะบทเรียนแรกในการฟื้นฟูองค์กรที่มีปัญหาฝังลึกเช่นนี้ ก็คือการยอมเผชิญหน้ากับความจริง และเดินหน้าทำสิ่งที่ต้องทำแม้จะเจ็บปวด
 
บทเรียนการพลิกฟื้นองค์กรของ JAL อาจเป็นบทเรียนให้กับการบินไทยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกันนี้ได้ ทีมงาน Workpoint Today สรุปบทเรียนการพลิกฟื้นองค์กรของ JAL มาให้ใน 18 ข้อ
 
1. Japan Airlines ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 โดยนาย Aiichiro Fujiyama และนาย Seijiro Yanagata ด้วยเงินทุน 100 ล้านเยน 2 ปีต่อมาในปี 1953 JAL ถูกแปลงเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าถือหุ้นบางส่วน เนื่องจากเห็นความจำเป็นในการต้องมีสายการบินแห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ในปี 1987 JAL จะถูกแปลงกลับมาเป็นสายการบินของเอกชนอีกครั้ง
 
2. ปัญหาการขาดทุนของ JAL เริ่มต้นขึ้นในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติการเงินที่รู้จักกันในชื่อ Hamburger crisis รวมถึงในช่วงปลายปี 2008 ยังได้เริ่มเกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ขึ้น ส่งผลให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นน้อยลง โดยตลอดปี 2008 ชาวต่างชาติที่บินกับ JAL ลดลง 12.8% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ในช่วงต้นปี 2009 รายได้จากลูกค้าต่างชาติของ JAL ลดลงกว่า 46.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
3. สถานการณ์ที่ย่ำแย่ดังกล่าว ทำให้ในปีงบประมาณ 2009 (เม.ย.2008 – มี.ค.2009) JAL ขาดทุนสุทธิถึง 63,194 ล้านเยน (ประมาณ 18,500 ล้านบาท)
 
4. ในช่วงปี 2009 JAL อยู่ในสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่ เหลือเงินสดในมือเพียง 165,427 ล้านเยน (ณ เดือน มี.ค. 2009) ลดลงจาก มี.ค. 2008 ที่มีเงินสดในมือถึง 354,037 ล้านเยน ส่งผลให้ JAL ต้องหาเงินกู้มาเพิ่มสภาพคล่องโดยด่วน และในเดือน มิ.ย.2009 ก็ได้เงินกู้มาเพิ่ม 100,000 ล้านเยนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ค้ำประกันให้
 
5. แต่การได้เงินกู้มาโดยไม่มีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างจริงจัง ก็ไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ของ JAL ดีขึ้นได้ โดยในเดือน ก.ย. 2009 กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมของญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, and Transport) ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อประเมินสถานการณ์ของ JAL ทีมงานชุดดังกล่าวประเมินว่า ณ เดือน ต.ค. 2009 หากนำสินทรัพย์ทั้งหมดของ JAL ไปขายทอดตลาด จะไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้หนี้คืน โดยขาดไปถึง 766,000 ล้านเยน (ประมาณ 227,000 ล้านบาท)
 
6. สถานการณ์ของ JAL ในช่วงปลายปี 2009 ยังคงย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อตัวเลขผลประกอบการในช่วงปี 2009 ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ โดยตอนแรกมีการประเมินกันว่าในปีงบประมาณ 2010 (เม.ย.2009 – มี.ค. 2010) JAL น่าจะขาดทุน 59,000 ล้านเยน แต่ผลปรากฏว่าแค่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณนั้น (เม.ย.2009 – ธ.ค. 2009) JAL กลับขาดทุนไปแล้วถึง 232,000 ล้านเยน
 
7. มิหนำซ้ำ สถานการณ์เงินสดของ JAL ก็ยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่โงหัวไม่ขึ้นด้วย โดย ณ สิ้นปี 2009 JAL เหลือเงินสดในมือเพียง 155,000 ล้านเยน ในขณะที่ในปี 2010 ที่กำลังจะมาถึง มีหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดจ่ายคืนกว่า 285,000 ล้านเยน และหนี้ระยะสั้นที่ต้องจ่ายอีก 76,000 ล้านเยน
 
8. ในสถานการณ์มืดแปดด้านไม่มีทางออกเช่นนี้ JAL จึงหันไปพึ่งทางออกเดียวที่เหลืออยู่ นั่นคือการขอความช่วยเหลือจาก องค์กรความร่วมมือเพื่อพลิกฟื้นกิจการของญี่ปุ่น (Enterprise Turnaround Initiative Corporation of Japan: ETIC)
 
9. องค์กรความร่วมมือเพื่อพลิกฟื้นกิจการของญี่ปุ่น หรือ ETIC นี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกิจการที่มีความสำคัญในญี่ปุ่น ให้สามารถพลิกฟื้นกิจการกลับมาได้ องค์กรแห่งนี้มีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งมีบริษัทญี่ปุ่น 130 แห่งร่วมเป็นเจ้าของ
 
โดยในขณะที่ JAL มาขอความช่วยเหลือจาก ETIC นั้น ETIC มีเงินทุนอยู่ในมือกว่า 1,600,000 ล้านเยน และด้วยความที่องค์กรแห่งนี้มีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่ง ทำให้ในตอนนั้น ETIC เป็นองค์กรเดียวที่พร้อมและสามารถที่จะช่วยเหลือ JAL ได้
 
10. ในขณะนั้น ETIC มีนาย Hideo Seto เป็นประธาน และนาย Seto นี่เองที่ตัดสินใจให้ JAL เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของญี่ปุ่น (Corporate Reorganization Law) โดยทาง ETIC จะให้เงินทุนเพิ่มกับ JAL 350,000 ล้านเยน แลกกับสิทธิ์ในหุ้นทั้ง 100% ของ JAL
 
นั่นเท่ากับว่าหุ้นเดิมทั้งหมดของ JAL ได้มีมูลค่ากลายเป็น 0 ทั้งหมด โดยเหตุผลก็เพราะกฎหมายล้มละลายของญี่ปุ่นเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในกรณีที่บริษัทมีปัญหา ดังนั้นผู้ถือหุ้นเดิมของ JAL กว่า 380,000 คนในขณะนั้น มูลค่าหุ้นที่มีเป็น 0 ทันที
 
11. ในส่วนของเจ้าหนี้ ก็ต้องยอมยกหนี้ให้ JAL เป็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน โดยในครั้งนั้นเจ้าหนี้เจ้าต่างๆ ยอมลดหนี้ให้ JAL รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 521,100 ล้านเยน (ประมาณ 155,000 ล้านบาท) คิดเป็นกว่า 87.5% ของหนี้ทั้งหมดที่ JAL มี เข้าตำรา ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และบังคับให้เจ้าหนี้ต้องยอมลดหนี้ให้ด้วย
 
12. ในส่วนของเส้นทางการบินที่ให้บริการ ก็มีการตัดลดลงเช่นกัน โดย JAL ได้ตัดเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไรออกทั้งหมด โดยเที่ยวบินในประเทศของ JAL ลดลงจาก 148 เส้นทางในเดือน มี.ค. 2010 เหลือเพียง 109 เส้นทางในเดือน มี.ค. 2013 ส่วนเที่ยวบินต่างประเทศก็ถูกลดจำนวนลงจาก 75 เส้นทางเหลือ 65 เส้นทางในช่วงเวลาเดียวกัน
 
13. นอกจากนั้นแล้ว จำนวนเครื่องบินที่ JAL มีก็ถูกลดจำนวนลงด้วย โดยในช่วงเวลาของการฟื้นฟูกิจการ เครื่องบินมากกว่า 100 ลำถูกปลดประจำการ นอกจากนั้น รุ่นของเครื่องบินที่ JAL ใช้ ก็ถูกลดจาก 7 รุ่นเหลือเพียง 4 รุ่นด้วย
 
14. และแน่นอน เมื่อเส้นทางการบินถูกปิด และเครื่องบินจำนวนนับร้อยลำถูกปลดประจำการ พนักงานจำนวนกว่า 15,000 คนก็ต้องเดินออกจากองค์กรไปด้วย โดยในช่วงต้นปี 2009 JAL มีพนักงานอยู่กว่า 48,000 คน แต่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2012 พนักงานของ JAL เหลืออยู่เพียงประมาณ 32,000 คน โดยพนักงานบางส่วนก็ต้องยอมออกจากองค์กรอย่างจำใจ เช่นนักบินและวิศวกรของเครื่องบินรุ่นที่ถูกปลดประจำการ เป็นต้น
 
15. ส่วนพนักงานที่ยังอยู่ในองค์กรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานที่เหลือของ JAL โดนลดเงินเดือนลงคนละประมาณ 20% และมีการปรับวิธีคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยทั้งนักบินและผู้ให้บริการบนเครื่องบินจะได้เงินเมื่อขึ้นบินเท่านั้น ในส่วนของเงินบำนาญหลังเกษียณก็มีการปรับลดลง 50% สำหรับพนักงานที่ยังอยู่ และปรับลดลง 30% สำหรับอดีตพนักงานที่เกษียณไปแล้ว
 
16. ทั้งนี้ ต้องกล่าวด้วยว่า CEO ของ JAL ในขณะนั้น นั่นก็คือนาย Kazuo Inamori ซึ่งถูกดึงตัวมาเพื่อช่วยพลิกฟื้น JAL มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกระบวนการฟื้นฟู JAL โดยนาย Inamori เคยพูดเตือนผู้อำนาจในญี่ปุ่นว่า อย่ามาบังคับให้เขาต้องเก็บเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไรเอาไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเลย แสดงให้เห็นว่านาย Inamori ไม่ยอมจำนนกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง และมุ่งหน้าเปลี่ยนแปลง JAL ตามที่เห็นว่าจำเป็น
 
17. จากกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าว ทำให้ JAL กลับมามีกำไรได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี โดยในปีงบประมาณ 2012 (เม.ย.2011 – มี.ค. 2012) บริษัทพลิกกลับมามีกำไรจากการดำเนินการถึง 204,900 ล้านเยน (ประมาณ 60,000 ล้านบาท) และกำไรต่อเนื่องมาตลอดทุกปีถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดในปีงบประมาณ 2019 (เม.ย.2018 – มี.ค. 2019) JAL มีกำไรกว่า 155,144 ล้านเยน (46,000 ล้านบาท)
 
18. การฟื้นฟูกิจการที่ประสบความสำเร็จของ JAL นี้ ทำให้หลังจากเริ่มฟื้นฟูกิจการไม่ถึง 2 ปี JAL ก็ออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ โดยในวันที่ 19 ก.ย. 2012 JAL กลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นอีกครั้ง และระดมทุนได้กว่า 663,000 ล้านเยน โดยถือเป็นการ IPO ที่มูลค่ามากที่สุดในโลกในปีนั้น เป็นรองเพียง IPO ของ Facebook เท่านั้น
 
 
 
 
เรียบเรียงโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์
 
 
 
 

ที่มา:Workpoint News