ดิจิตอลหยวน อนาคตอันใกล้ของสังคมไร้เงินสด


 
กระแส “ดิจิตอลหยวน” กำลังมาแรง หลังมีข่าวว่าจีนเริ่มทดลองใช้เงินดิจิตอลจริง ๆ แล้วใน 4 เมือง หลายคนบอกว่าอีกไม่ช้า “สังคมไร้เงินสด” จะมาถึงโดยสมบูรณ์ แล้วประเทศไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร รวมถึงคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะได้รับประโยชน์หรือผลกระทบอะไรบ้าง มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันในบทความนี้
 
• ดิจิตอลหยวน คืออะไร
 
       ดิจิตอลหยวนไม่ใช่สกุลเงินใหม่ แต่เป็นเงิน “หยวน” เดิมที่กลายร่างจากเงินกระดาษ (ธนบัตร) มาอยู่ในรูปแบบดิจิตอล หมายความว่า แทนที่ธนาคารกลางของจีนจะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ ก็เปลี่ยนเป็นเขียนโปรแกรมเพื่อผลิตเงินออกมาในรูปแบบดิจิตอล
 
       ความจริงแล้วสกุลเงินที่เป็นทางการของจีนมีชื่อว่า “เหรินหมินปี้” (Renminbi) ส่วนคำว่า “หยวน” (Yuan) คือหน่วยของเงิน ถ้าเทียบกับไทย สกุลเงินของบ้านเราคือ “บาท” ส่วนหน่วยก็มีทั้งคำว่า “บาท” และ “สตางค์”
 
       แต่เนื่องจากคำว่า “เหรินหมินปี้” ออกเสียงยาก คนทั่วไปจึงไม่ค่อยเรียกกันและคุ้นเคยกับคำว่า “หยวน” มากกว่า ดังนั้น ชื่อสกุลเงินดิจิตอลของจีนอย่างเป็นทางการจริง ๆ คือ E-Renminbi หรือ e-RMB ซึ่งเราก็จะได้ยินคำว่า “ดิจิตอลหยวน” (Digital Yuan) มากกว่าเช่นกัน
 
• ดิจิตอลหยวน แตกต่างจากบิทคอยน์ (Bitcoin)
 
       ดิจิตอลหยวน ออกโดยธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China หรือ PBoC) มีมูลค่าเท่ากับเงินหยวนกระดาษ แบบ 1 ต่อ 1 หรือหมายความว่า ถ้าธนาคารกลางของจีนจะผลิตเงินดิจิตอลออกมา 1 ล้านดิจิตอลหยวน จะต้องมีเงินหยวนกระดาษใส่เข้าไปหนุนไว้ในธนาคารกลาง 1 ล้านหยวนเท่า ๆ กัน
 
       ดิจิตอลหยวน จึงมีความเสถียรต่างจากสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ ที่เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ (Bitcoin) หรืออีเธอเรียม (Ethereum) เนื่องจากสกุลเงินดิจิตอลเหล่านั้นไม่ผูกติดกับสกุลเงินใดเลย แต่มูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน จึงมีความผันผวนสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ปลายปี 2017 บิทคอยน์ 1 บิทคอยน์ มีมูลค่า 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อต้นปี 2019 บิทคอยน์ 1 บิทคอยน์ มีมูลค่าลดลงเหลือ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันบิทคอยน์ 1 บิทคอยน์ มีมูลค่าประมาณ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่า มูลค่าขึ้นลงเป็นรถไฟเหาะตีลังกา
 
       การที่เงินดิจิตอลต่าง ๆ มีความผันผวนสูง เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ทำให้หลายคนมองว่าสกุลเงินดิจิตอลเป็น “การลงทุนเสี่ยงโชค” มากกว่าจะนำมาใช้จ่ายในชีวิตจริง
 
 
• ดิจิตอลหยวน เริ่มทดลองใช้จริง ๆ แล้ว
 
       จีนพัฒนาดิจิตอลหยวนมาตั้งแต่ปี 2014 และตอนนี้มีข่าวว่าเริ่มทดลองใช้จริง ๆ แล้วใน 4 เมือง คือ เสิ่นเจิ้น (Shenzhen) ซูโจว (Suzhou) เฉิงตู (Chengdu) และ สงอัน (Xiong’an) โดย 3 เมืองแรก มีประชากรรวมกันกว่า 38 ล้านคน และได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยี ส่วนเมืองสงอันนั้นเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง (Beijing) ตอนนี้จีนจึงกำลังปลุกปั้นสงอันให้เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่
 
       ในการทดลองใช้เงินดิจิตอลหยวน ทางการจีนได้ขอความร่วมมือจากห้างร้านยอดนิยมต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ห้างร้านท้องถิ่น แต่รวมถึงแบรนด์ดังระดับโลก อย่างสตาร์บัคส์ (Starbucks) แมคโดนัลด์ (McDonald’s) ซับเวบย์ (Subway) ก็เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ด้วย อย่าแปลกใจครับว่า ทำไมแบรนด์สัญชาติอเมริกันเหล่านี้ถึงร่วมทดลองใช้ดิจิตอลหยวนกับทางการจีน เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้ากับจีน แต่บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นตลาดสำคัญที่ต้องเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ และยอดขายของแบรนด์ดังเหล่านี้ในจีนก็กำลังเติบโตสวนทางกับยอดขายในที่อื่น ๆ
 
       เมื่อห้างร้านใน 4 เมือง พร้อมรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยดิจิตอลหยวนแล้ว ทางการจีนก็เริ่มปล่อยเงินดิจิตอลหยวนสู่ท้องตลาด โดยจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการท้องถิ่นเป็นเงินหยวนกระดาษครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นดิจิตอลหยวน เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มนี้ลองนำเงินดิจิตอลหยวนไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
 
• ดิจิตอลหยวน โอนเงินข้ามค่ายได้และไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต
 
       ดิจิตอลหยวน สามารถโอนข้ามกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) คนละค่ายได้เลย แตกต่างจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่ต้องใช้ค่ายใครค่ายมัน ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันผมมีบัญชีอาลีเพย์ (AliPay) ถ้าไปซื้อของกับร้านค้าที่รับชำระเงินเฉพาะระบบทรูมันนี่ (True Money) ผมก็จะไม่สามารถชำระเงินได้ หรือผมอาจจะต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเพื่อนที่มีทรูมันนี่ แล้วให้เพื่อนชำระเงินให้แทน แต่หากเป็นระบบแบบดิจิตอลหยวนที่ทดลองใช้อยู่ตอนนี้ ผมสามารถโอนเงินจากอาลีเพย์ข้ามไปทรูมันนี่ของร้านค้าได้เลย สะดวกสบายขึ้นมากครับ
 
       ดิจิตอลหยวน ถูกออกแบบมาให้โอนเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เพราะสามารถโอนเงินผ่านระบบ NFC (Near Field Communication) ซึ่งมีในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ อยู่แล้ว ส่วนวิธีการโอนเงินก็ง่าย ๆ แค่เอาโทรศัพท์ 2 เครื่องสัมผัสกัน
 
 
• ดิจิตอลหยวน ปลอดภัยหรือไม่
 
       หนึ่งในข้อกังวลใจเกี่ยวกับดิจิตอลหยวน คือ ความเป็นส่วนตัว เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเงินดิจิตอลหยวนถูกผลิตโดยธนาคารกลางของจีน ดังนั้น ธนาคารกลางของจีนย่อมสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่าเงินดิจิตอลหยวนนั้นถูกโอนจากไหนไปไหนบ้าง หมายความว่า เมื่อเราได้รับเงินมา ธนาคารกลางก็รู้ หรือเมื่อเราจ่ายเงินนี้ออกไป ธนาคารกลางก็รู้อีกเช่นกัน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจีนต้องการจะรู้ประวัติการใช้เงินต่าง ๆ ก็สามารถเรียกขึ้นมาดูได้
 
       การตรวจสอบของภาครัฐถ้ามองเป็นเรื่องดี ผมคิดว่ามันสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องการหนีภาษีและการฟอกเงิน
 
 
• คู่แข่งของดิจิตอลหยวน คือ ลิบรา (Libra) ของเฟซบุ๊ก
 
       สกุลเงินดิจิตอลที่มีอยู่ปัจจุบันไม่น่าจะเป็นคู่แข่งของดิจิตอลหยวน เพราะเงินดิจิตอลเหล่านั้นมีความผันผวนสูง ไม่เหมาะจะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นคู่แข่งสำคัญของดิจิตอลหยวนน่าจะเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีชื่อว่า “ลิบรา” (Libra) ของเฟซบุ๊ก ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่และได้เปิดตัวเวอร์ชั่น 2.0 ออกมาแล้ว
 
       ที่บอกว่าลิบราจะเป็นคู่แข่งของดิจิตอลหยวน เนื่องจากลิบราใช้หลักการเดียวกันกับดิจิตอลหยวน คือ ผูกค่าเงินลิบราสกุลต่าง ๆ แบบ 1 ต่อ 1 เช่นกัน โดยลิบราเวอร์ชั่นใหม่นี้จะมี 4 สกุลเงิน คือ LibraUSD จะผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ LibraEUR จะผูกกับเงินยูโร LibraGBP จะผูกกับเงินปอนด์ของอังกฤษ และ LibraSGD จะผูกกับดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้ค่าเงินลิบราจะไม่เกิดความผันผวนเช่นกัน
 
       และยิ่งไปกว่านั้น คือ จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกในปัจจุบันมีประมาณ 2.4 พันล้านบัญชี มากกว่าจำนวนประชากรชาวจีนทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 1.4 พันล้านคน
 
 
• ความแตกต่างระหว่าง ดิจิตอลหยวน กับ ลิบรา
 
       ดิจิตอลหยวนออกโดยธนาคารกลางของจีน แต่ลิบราออกโดยสมาคมลิบรา (The Libra Association) จัดตั้งโดยเฟซบุ๊กและพันธมิตร นอกจากนี้ ลิบราเวอร์ชั่น 2.0 ยังบอกด้วยว่าตนเองจะทำตัวเป็นแพลตฟอร์ม เปิดให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ สามารถเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มนี้ได้ เช่น ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยอยากออกสกุลเงินดิจิตอลก็ไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาระบบ แค่เข้าไปใช้แพลตฟอร์มของลิบรา ไทยก็สามารถมีเงินสกุล LibraTHB ออกมาใช้ โดยที่ 1 LibraTHB จะมีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท
 
 
• ประเทศไทยจะมีเงินดิจิตอลเป็นของตัวเองหรือไม่
 
       อย่าเพิ่งคิดว่าประเทศเราล้าหลัง ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินดิจิตอลนะครับ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยก็ซุ่มพัฒนาเงินดิจิตอลแล้วตั้งแต่ปี 2018 แล้ว โดยตั้งชื่อโครงการว่า “อินทนนท์” ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองชำระเงินระหว่างแบงก์ชาติกับธนาคารพาณิชย์อีก 8 แห่ง ยังไม่ถึงเฟสที่จะนำเงินดิจิตอลมาทดลองใช้กับประชาชนจริง ๆ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าแบงก์ชาติบ้านเราจะตามเรื่องเงินดิจิตอลไม่ทัน
 
 
• คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ต้องเตรียมพร้อมอย่างไร เมื่อเงินดิจิตอลมาถึง
 
       ความคิดเห็นส่วนตัวของผม คือ ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นกระแสการเปลี่ยนแปลงจากเงินกระดาษไปเป็นเงินดิจิตอล ไม่ช้าก็เร็ว ยังไงเราก็ต้องเริ่มใช้เงินดิจิตอลแน่นอนครับ เพราะต้นทุนในการผลิตเงินดิจิตอลนั้นถูกกว่าการพิมพ์พันธบัตร ภาครัฐเองก็พยายามเปลี่ยนให้เราเข้าไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อยู่แล้ว
 
       ในส่วนของการปรับตัว ถ้าเป็นคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งอยู่แล้ว คงไม่ต้องปรับตัวมากเพราะการใช้เงินก็ไม่ต่างจากเดิม แถมจะสะดวกสบายมากขึ้นด้วย เนื่องจากเงินดิจิตอลสามารถโอนข้ามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้เลย ไม่ต้องเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หลายค่าย
 
       แต่กลุ่มที่ต้องปรับตัวมากหน่อยคงเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่อาจจะยังทำบัญชี 2 เล่มอยู่ คือ บัญชีที่รับเงินจริง กับ บัญชีที่ใช้ไปยื่นภาษี เพราะต่อไปถ้าเงินดิจิตอลเข้ามาเต็มรูปแบบ ผมเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถตรวจสอบข้อมูลและประวัติธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และสามารถจัดเก็บภาษีมาใช้พัฒนาประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
 
 
 
บทความโดย  ดร.พีรภัทร ฝอยทอง
 
 
 

ที่มา:Workpoint News