'เอาเงินคนรวยให้คนจน' สูตรลดเหลื่อมล้ำสิงคโปร์


 
ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศสิงคโปร์ปี 2020 จะหดตัวถึง -5.4% จากปีก่อนหน้าก็ตาม แต่ “เฮง สวี เกียต” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้” ของสิงคโปร์อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ผลจากที่ใช้โมเดล “โยกเงินก้อนใหญ่จากคนรวยสู่คนจน”
 
“เฮง สวี เกียต” ให้สัมภาษณ์ของสำนักข่าวแชนเนล นิวส์ เอเชีย ว่า เมื่อปีที่แล้ว “ค่าบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้” (Gini coefficient) หรือการกระจายความมั่งคั่งของสิงคโปร์อยู่ที่ 0.375 ลดลงต่ำกว่าปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 0.398 และน้อยที่สุดตั้งแต่ประเทศเริ่มบันทึกสถิติเมื่อปี 2000 โดยเฮงกล่าวว่า สาเหตุที่ระดับความเหลื่อมล้ำของสิงคโปร์ลดลง เนื่องจากความสำเร็จของโครงการแจกจ่ายเงินเมื่อปีที่แล้ว มุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยมากกว่า
 
สำนักงานสถิติสิงคโปร์ระบุว่า โดยเฉลี่ยประชากรได้รับเงินจากแพ็กเกจช่วยเหลือของรัฐบาล 6,308 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน (ประมาณ 143,000 บาท) ขณะที่ปี 2019 ได้รับเงินเพียง 4,684 ดอลลาร์สิงคโปร์ (106,000 บาท) โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดของสิงคโปร์เมื่อปี 2020 มีมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.27 ล้านล้านบาท)
 
โดยเฮงย้ำว่า ระบบการบริหารจัดการสวัสดิการจากเงินภาษีของประเทศ มุ่งนำเงินคนที่มีรายได้สูงเข้าช่วยเหลือผู้คนที่มีรายได้ต่ำ ทางการสิงคโปร์รายงานว่า ครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศ 20% จ่ายภาษีมูลค่า 56% ของภาษีทั้งหมด และได้รับสวัสดิการ 11% จากสวัสดิการทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% ของประเทศ จ่ายภาษีคิดเป็น 9% ของภาษีทั้งหมด ขณะที่ได้รับจัดสรรสวัสดิการมากถึง 27% จากสวัสดิการทั้งหมด
 
“ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่มีรายได้สูงจ่ายภาษีมากกว่า และได้รับสวัสดิการน้อยกว่าบุคคลที่มีรายได้ต่ำ โดยบางกรณีแรงงานที่รายได้ต่ำมากไม่เสียภาษีเงินได้” เฮง สวี เกียต กล่าว
 
และสิงคโปร์จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ รองนายกฯสิงคโปร์กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลจะยังมีแพ็กเกจมาตรการช่วยเหลือครอบครัวสิงคโปร์อีก 900 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (2.05 หมื่นล้านบาท) ในกลุ่มบุคคลและครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยบุคคลที่มีรายได้น้อยจะได้รับเงินระหว่าง 120-200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,727-4,545 บาท) รวมทั้งครัวเรือนจะได้รับส่วนลดค่าสาธารณูปโภคเพิ่มอีก 50% และครอบครัวที่พักอาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ จะได้รับเงินค่าบำรุงรักษาคืนส่วนหนึ่ง
 
นอกจากนี้ อายุต่ำกว่า 21 ปีจะได้เงินทุนการศึกษาเพิ่มเติมอีก 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (4,545 บาท) และทุกครอบครัวจะได้บัตรกำนัลจากสภาพัฒนาชุมชนสิงคโปร์ (CDC) มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,272 บาท) สำหรับการใช้งานภายในร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ
 
พร้อมด้วยแพ็กเกจช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อย่างนโยบายการช่วยเหลือธุรกิจซึ่งได้จัดสรรงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2.5 แสนล้านบาท) ภายใต้แพ็กเกจ “COVID-19 Resilience Package” มุ่งสนับสนุนบริการสาธารณสุขให้ผู้ประกอบการกลับมาเปิดร้านค้าอย่างปลอดภัย, ขยายเวลาการรับเงินสนับสนุนค่าจ้างแรงงานท้องถิ่น, สนับสนุนการจ้างงาน, ขยายเวลาการเข้าถึงสินเชื่อ, จัดหาเงินทุนเพื่อการค้า, กองทุนเงินช่วยแรงงาน, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกองทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างภาคการบิน และอาชีพขับรถรับจ้าง เป็นต้น
 
สำหรับกำหนดการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จาก 7% เป็น 9% ในปีนี้ ถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่เฮงระบุว่าจะขึ้นภาษีในเร็ว ๆ นี้ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ
 
อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลใช้ในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ปีงบประมาณ 2020 สิงคโปร์ขาดดุลมากถึง 6.49 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงสุดนับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราช และคาดการณ์ว่างบประมาณปีนี้จะขาดดุล 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท)
 
รองนายกฯสิงคโปร์ระบุว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกยากลำบาก ต้องพยายามช่วยเหลือให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนสามารถหางานหรือรักษางานที่มีอยู่ไว้ในช่วงวิกฤตนี้ เพราะถ้าคนที่เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวไม่มีงานทำ ไม่ใช่แค่เขาที่จะได้รับผลกระทบ แต่ทั้งครอบครัวจะได้รับผลกระทบไปด้วย
 
 
 
 
 
 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ