'หยวนดิจิทัล' ปลดแอก 'อีเพย์เมนท์' ยักษ์ใหญ่ในจีน


 
"หยวนดิจิทัล" กำลังปลดแอก และปฏิวัติธุรกรรมการเงินออนไลน์ จากบริษัทอีเพย์เมนท์ "อาลีเพย์ - วีแชทเพย์" ยักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนคิดแข่งขันสกุลเงินดอลลาร์ในระดับสากล
 
"จีน" เดินหน้าขยายการใช้ "สกุลเงินหยวนดิจิทัล" หรืออีกชื่อเรียกว่า "ดิจิทัลเหรินหมินปี้" (Digital Renminbi) อย่างรวดเร็วในสถาบันการเงินหลักๆ และเว็บไซต์ออนไลน์ ร้านค้าออฟไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคจ่ายชำระเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น
 
ขณะนี้มีธนาคารขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน, ธนาคารแห่งการสื่อสาร, ธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน, ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแห่งประเทศจีน และธนาคารไปรษณีย์จีน ได้เริ่มติดตั้งกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้บริการแล้ว 
 
ลูกค้าสามารถสมัครเข้าร่วมรายการใช้จ่ายหยวนดิจิทัล ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นและสแกนคิวอาร์โค้ด ในระหว่างที่ธนาคารเหล่านี้ทำการทดลองระบบ ปัจจุบันในกรุงปักกิ่งมีร้านค้าจำนวนมากที่เข้าร่วมทดลองโดยใช้หยวนดิจิทัลชำระเงิน รวมถึงร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และบริษัทขนส่งสินค้า ขณะที่เครื่องจำหน่ายบัตรรถไฟฟ้าใต้ดินในนครเซี่ยงไฮ้ และแหล่งชอปปิงในเขตสูเจียหุยในเซี่ยงไฮ้ก็เริ่มรับชำระเงินหยวนดิจิทัลแล้วเหมือนกัน 
 
ขณะที่นักช้อปทั้งหลายสามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลเหรินหมินปี้ ผ่านเจดีดอทคอม  (JD.com) และเหม่ยถวน เตี่ยนผิง แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อื่น ๆ ในประเทศ
 
มาร์ติน ฌอร์แซมเป้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันปีเตอร์สัน เพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า หยวนดิจิทัลของจีนกำลังปลดแอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ให้บริการอีเพย์เมนท์ภายในประเทศจีน ก่อนที่จะคิดแข่งขันสกุลเงินดอลลาร์ในระดับสากล
 
"หลายคนพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลเหรินหมินปี้ว่า ช่วยยกระดับความเป็นสากลให้กับเงินหยวน" ฌอร์แซมเป้กล่าวกับรายการสตรีท ไซด์ เอเชียทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี และระบุว่า เรื่องน่าสนใจมาก ต้องจับตา
 
ธนาคารกลางจีนกำลังพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลให้มีความเสถียรมากขึ้น และลักษณะการทำงานก็คล้ายกับชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา มีเงินหยวนดิจิทัลจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.82 ล้านหยวนหมุนเวียนอยู่ในระบบระหว่างทำการทดสอบ
 
ฌอร์แซมเป้ กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นผลักดันให้เกิดหยวนดิจิทัลคือ รัฐบาลต้องการเข้าไปสนับสนุนและควบคุมผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ อย่าง อาลีเพย์ บริษัทในเครือของอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซ และวีแชทเพย์ ของเทนเซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองแห่งครองสัดส่วนการให้บริการชำระเงินดิจิทัลในจีน ประมาณ 95%
 
สิ่งแตกต่างที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลก พบว่า การชำระเงินผ่านมือถือของจีน ไม่ว่าจะอาลีเพย์ และวีแชทเพย์ สามารถเข้ามาแทนที่การใช้จ่ายเงินสดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยฌอร์แซมเป้มองว่า จีนเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด ในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล นอกจากนี้ สกุลเงินหยวนดิจิทัลยังไม่ค่อยเหมือนคริปโตเคอเรนซี อย่างบิทคอยน์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนสูง
 
"สกุลเงินหยวนดิจิทัลมีความปลอดภัยสูงมาก และความเสี่ยงต่ำ มันถูกออกแบบให้มีมูลค่าเท่ากับเงินหยวนทั่วไป ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลเรื่องราคาผันผวน" ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันปีเตอร์สัน ระบุ และกล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลของจีนค่อนข้างปลอดภัย ตราบใดที่รัฐบาลปักกิ่งเข้ามาดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย
 
นอกจากประเทศจีนแล้ว คาดว่า สวีเดนจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เฟซบุ๊คเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลชื่อ ลิบรา และรีแบรนด์เป็นดิเอม (Diem) ได้ปลุกกระแสความสนใจให้กับคริปโตเคอเรนซีอย่างมาก จนทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐเกิดความกังวลว่า บริษัทเอกชนจะเข้ามาครอบครองกลไกการชำระเงินดิจิทัล เช่นเดียวกับอาลีเพย์และวีแชทเพย์ ต่างก็มีอิทธิพลมากในระบบการชำระเงินดิจิทัลในจีน
 
 
 
 
 
 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ