ชนชั้นกลางจีนไม่อยากมีลูกคนที่สอง ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป


 
รัฐบาลจีนผิดหวัง ไม่อาจกระตุ้นจำนวนประชากรเกิดใหม่ หลังชนชั้นกลางของจีนไม่พร้อมมีลูกคนที่สอง เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง
 
เมื่อ 3 ปีก่อน รัฐบาลจีนได้ผ่อนปรนมาตรการลูกคนเดียวที่มีมายาวนานถึง 4 ทศวรรษ เพื่อหวังกระตุ้นให้มีเด็กเกิดใหม่มากขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องผิดหวังกับความเป็นจริง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เผยให้เห็นว่า ในปี 2561 มีตัวเลขเด็กเกิดใหม่ในเพียง 15.32 ล้านคน ลดลงจากเดิมในปี 2560 ประมาณ 2 ล้านคน 
 
จากการสำรวจในปี 2560 มากกว่าร้อยละ 50 ของครอบครัวในจีนไม่อยากมีลูกคนที่สอง และหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายที่ตามมาเป็นเงาตามตัว
 
เฉิน หุ้ยหยวน ครูระดับมัธยมศึกษา กล่าวว่า เธอมีรายได้ 5,000 หยวน หรือประมาณ 23,000 บาท ต่อเดือน ในขณะที่สามีเธอมีรายได้ 16,000 หยวน หรือประมาณ 74,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งการเลี้ยงลูกวัย 2 ขวบ ของเธอนั้นใช้เงินประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว หากเปรียบเทียบกับครอบครัวที่มีรายได้ใกล้เคียงกันในสหรัฐฯ เงินที่ใช้เลี้ยงลูกคิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
 
ความยากลำบากทางการเงินของเฉินเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนครอบครัวชนชั้นกลางของจีนนับล้านครอบครัวที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน และเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่ได้
 
"ฉันไม่มีทางมีลูกคนที่สองแน่นอน มันแพงเกินไป" เฉิน กล่าว
การไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลจีนอย่างมาก เนื่องจากประเทศกำลังขาดทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ ประชาชนจีนกว่า 240 ล้านคน เป็นคนที่มีอายุเกิน 60 ปี นับเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ 
 
มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้สูงอายุในจีนจะขึ้นไปอยู่ที่ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2593 หรือประมาณ 480 ล้านคน และภายในปี 2573 ตัวเลขของประชากรจีนจะลดลงซึ่งไปเติมเชื้อความกลัวว่า "จีนจะแก่ก่อนจะรวย"
 
เด็กน้อยร้อยล้าน
 
ผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในประเทศจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าครองก็สูงขึ้น แต่ความเชื่อมั่นในสินค้าท้องถิ่นกลับลดลง 
 
เฉิน กล่าวว่า เธอไม่เคยซื้อสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นให้ลูกเธอใช้เลย เธอเลือกที่จะซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อความมั่นใจมากกว่า แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ เธอก็ยังซื้อเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
 
ในปี 2551 การปนเปื้อนสารเมลามีนในนมผงคร่าชีวิตทารกในจีนไปอย่างต่ำ 6 คน และยังทิ้งปัญหาสุขภาพทั้งอย่างนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะอักเสบกับเด็กหลายแสนคน ซึ่งข่าวฉาวในครั้งนั้นยังคงตามหลอกหลอนพ่อแม่เด็กมากมายในจีน
 
หวาง ดัน รองผู้อำนวยกาสถาบันวิจัยการศึกษาจีนของมหาวิทยลัย หวา ชิง ในฮ่องกง กล่าวว่าค่าเล่าเรียนและค่าสันทนาการเป็นภาระหนักสำหรับผู้ปกครองเช่นกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงยุค 90 คนจีนส่วนมากเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยหรือฟรีในบางแห่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไปและ "การศึกษากลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่" ในตอนนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการเล่าเรียนสูงขึ้น
 
เฉินกล่าวว่า เธอทุ่มเงินกว่า 5,000 หยวน หรือประมาณ 23,000 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับเงินเดือนเธอทั้งเดือน ให้กับศูนย์ดูแลเด็กเล็กสองภาษา เพื่อให้ลูกของเธอได้รับการศึกษาที่พิเศษกว่าเด็กคนอื่น
 
ประเด็นด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนกังวลเช่นกัน เนื่องจากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลไม่เพียงพ่อต่อค่ารักษาพยาบาลของเด็กเล็ก จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราส่วนระหว่างแพทย์และผู้ป่วยย่ำแย่ที่สุดในโลก จึงเป็นเหตุผลให้มีการติดสินบนแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่ดีที่สุด
 
แม้รัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีลูกคนที่สองด้วยมาตรการต่างๆ เมืองหนึ่งในมณฑลหูเป่ยจัดบริการรับส่งเด็กฟรีแก่ผู้หญิงที่มีลูกคนที่สอง ในชณะที่อีกเมืองหนึ่งในเงินจำนวน 1,200 หยวน หรือประมาณ 5,500 บาท อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า มาตรการช่วยเหลือต่างๆ เหล่านั้นยังไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง
 
ปัจจุบันมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะปัดมาตรการจำกัดการมีลูกให้ตกไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากร แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลต้องใช้มาตรการอีกหลายอย่างมาอุดหนุนประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการเลี้ยงบุตรเนื่องจากปัจจัยทางการเงิน
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี