โครงการเขื่อนใหม่ใน 'เมียนมา' อาจทำให้คนพลัดถิ่น 7,000 คน


 
ผลการศึกษาพบว่า โครงการสร้างเขื่อนใหม่ในเมียนมา อาจทำให้มีคนต้องพลัดถิ่นหลายพันคน แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างว่า เขื่อนนี้จะเป็นประโยชน์กับเมียนมาอย่างมาก จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้าน
 
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมียนมาอ้างว่า โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำตะนาวศรีจะสร้างประโยชน์ให้กับเมียนมาอย่างมาก แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ Blocking a Bloodline, by Candle Light, Southern Youth และ the Tarkapaw Youth Group ได้ร่วมกันทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และพบว่า โครงการสร้างเขื่อนนี้อาจทำให้ประชาชนเกือบ 7,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเอง
 
รายงานฉบับนี้ระบุว่า โครงการนี้จะเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยง เขื่อนนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนถึง 32,000 คนที่อาศัยริมแม่น้ำตะนาวศรีไปตลอดกาล รายงานนี้คาดการณ์ว่า คนใน 32 หมู่บ้านบริเวณต้นน้ำจะต้องพลัดถิ่น และพื้นที่จะถูกทำลายไปกว่า 58,500 เฮกเตอร์หรือเกือบ 366,000 ไร่ ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่ของสัตว์ และทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่ป่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องจมอยู่ใต้น้ำ
 
ตามกฎหมายเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์จะต้องยินยอมให้เดินหน้าโครงการในพื้นที่ก่อน โดยเป็นการยินยอมโดยอิสระและได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน แต่รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า แม้จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ถึง 18 ฉบับกับบริษัทสร้างเขื่อน แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปรึกษากับชุมนุมท้องถิ่นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่พวกเขาจะต้องเผชิญ เมื่อมีการสร้างเขื่อน
 
 ทุกสิ่งที่คนท้องถิ่นรู้จักในชีวิตจะหายไป
 
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียแสดงความเห็นว่า ประชาชนประมาณ 7,000 คนจะสูญเสียทุกอย่างที่พวกเขารู้จัก ตั้งแต่วิถีชีวิต ชุมชน ญาติมิตร ประวัติศาสตร์บรรพบุรุษ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และที่ดินของพวกเขา หากโครงการนี้เดินหน้าต่อ ชาวบ้านจะต้องนับว่าวันที่พวกเขาพลัดถิ่นเป็นวันเริ่มต้นของช่วงที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต เมื่อรัฐบาลเมียนมาได้เหยียบย่ำสิทธิของพวกเขา และพวกเขาต้องพลัดถิ่นไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่มีที่ดิน น้ำ บริการ และความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
 
นอว์ เพ เธ ลอว์ กรรมการบริหารกลุ่ม Tanintharyi Friends กล่าวว่า แม่น้ำคือชีวิตของคนท้องถิ่นริมแม่น้ำ แม่น้ำให้ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ พวกเขาบอกว่า ป่าคือตลาดที่ไม่มีค่าใช้จ่าย พวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ เพราะหาทุกอย่างได้ในป่า
 
ด้านอู เมียว ยุนท์ โฆษกพรรคเอ็นแอลดี พรรครัฐบาลของเมียนมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า รัฐบาลกำลังศึกษาโครงการนี้อย่างละเอียด เพื่อตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และกิจการสังคมของเมียนมา นอกจากนี้ จะถามความเห็นชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบด้วย 
 
เมื่อปี 2015 รัฐบาลเมียนมากล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะทำให้เมียนมามีพลังงานที่ปลอดภัยขึ้นในอนาคต พัฒนาภูมิภาคผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เทคนิคและการเงิน อีกทั้งยังจะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีราคาต่ำลงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่สามารถหาทดแทนได้
 
 ไฟฟ้าที่ผลิตนี้ไม่ใช่ของคนท้องถิ่น
 
นอว์ เพ เธ ลอว์กล่าวว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนนี้จะถูกส่งไปขายประเทศอื่น ไม่ใช่สำหรับคนในพื้นที่ โดยคนท้องถิ่นมักใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าส่วนตัว เพราะบ้านเรือนของพวกเขาไม่ได้เชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้าของทางการเมียนมา และไฟฟ้าชนิดนี้มีราคาแพงกว่าไฟฟ้าที่ใช้ในเมืองถึง 5 เท่า จากข้อมูล ประชากรเมียนมาที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้มีไม่ถึงร้อยละ 40 และในตะนาวศรีมีบ้านเรือนเพียงร้อยละ 33.8 เท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้อย่างสม่ำเสมอ
 
รัฐบาลเมียนมาได้ระบุไว้ในแผนด้านพลังงานปี 2011 ที่ได้เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีว่า “ชุมนุมที่อยู่รอบโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอาจยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และอาจสูญเสียความมั่นคงด้านอื่นๆ เช่น อาหาร น้ำ หนือชีวิตความเป็นอยู่”
 
ในรายงานของเอดีบีปี 2012 ระบุว่า เมียนมา ลาว และจีนเป็นผู้ส่งออกพลังงานหลักของภูมิภาค โดยปี 2010 อัตราการผลิตพลังงานต่อชั่วโมงของเมียนมาสูงเกินอัตราการใช้พลังงานต่อชั่วโมง โดยพลังงานที่ส่งออกส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
 
 เสี่ยงยกระดับความขัดแย้ง
 
สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมาและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยูในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้พลเรือนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนตัวเองและไปหลบซ่อนในป่า หรืออยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนติดกับไทยรวมประมาณ 80,000 คน
 
ในปี 2012 กองทัพเมียนมาและเคเอ็นยูลงนามข้อตกลงหยุดยิงเบื้องต้น ทำให้ไม่มีการยิงปะทะกันมาหลายปีแล้ว แต่สันติภาพที่เกิดขึ้นนี้ค่อนข้างเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนเกรงว่าเขื่อนนี้จะจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมา
 
เมื่อปี 2017 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ ไอเอฟซีแสดงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นจากโครงการสร้างเขื่อนต่างๆ ในเมียนมา โดยยกตัวอย่างรัฐกะเหรี่ยงว่า โครงการสร้างเขื่อนจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่พอใจและจุดชนวนให้เกิดการปะทะกัน
 
ฟิล โรเบิร์ตสันกล่าวว่า ความเป็นจริงมีอะไรมากกว่าข้อตกลงเรียบง่ายว่าจะหยุดยิงใส่กัน มีการตกลงร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพ” น้อยมากระหว่างกองทัพ รัฐบาลพลเรือนและเคเอ็นยู ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสถานภาพในที่ดินและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกต่อต้านจากฝ่ายที่เสียประโยชน์โดยอัตโนมัติ ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพเมียนมากับเคเอ็นยูก็เปราะบางอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่ข้อตกลงจะล่มลงไป
 
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี