กลไกอาเซียนต้าน COVID-19 : มาช้า ยังดีกว่าไม่มา


 
แม้จะมาช้า แต่อย่างน้อย ณ นาทีนี้ อาเซียนก็มีกลไกในการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปด้วยกันแล้ว ซึ่งกลไกในลักษณะดังกล่าวมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะประชาคมอาเซียนคือเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของไทย และปัญหา COVID-19 เป็นปัญหาข้ามพรมแดน ไร้สัญชาติ และสามารถแพร่ระบาดติดต่อกันได้ง่าย หากชายแดนทั้งสองฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านไม่มีกลไกรับมือ แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ร่วมกันใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของแต่ละประเทศ รวมทั้งร่วมมือร่วมใจสร้างกลไกยับยั้งการแพร่ระบาดร่วมกัน
 
กลไกอาเซียนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม นำโดยกัมพูชาในฐานะผู้ประสานงานการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขของประชาคมอาเซียน ที่ได้จัดให้มีการประชุมในรูปแบบ Video Conference ระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Health Officials) ขึ้น
 
จากการประชุม อาเซียนร่วมกับคู่เจรจาหลักอีก 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็น 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี รวมทั้งมีองค์ความรู้และมีประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาด ได้ร่วมกันสร้างกลไกในการรับมือการแพร่ระบาดร่วมกันในประชาคมอาเซียนแล้ว โดยกลไกนี้ถูกเรียกว่า ASEAN Emergency Operations Centre Network for Public Health Emergencies เรียกย่อๆ ว่า ASEAN EOC Network โดยมาเลเซียจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการแบ่งปันข่าวสารข้อมูล และองค์ความรู้ในการรับมือ เฝ้าระวัง ดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งสร้างกลไกป้องกันการแพร่ระบาดร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก หากคุณผู้อ่านอยากเข้าไปดูข้อมูลการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการของอาเซียน สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.asean.org ในหน้าจอแรกของ Website ของประชาคมอาเซียน ตรงบริเวณ ASEAN Health Efforts on COVID-19
 
เมื่อเข้ามาในส่วนของ ASEAN EOC Network สิ่งที่เราจะเห็นคือ รายงานสถานการณ์ความเสี่ยงของการระบาด (Risk Assessment Report) ซึ่งเป็นความร่วมมือของอาเซียน กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ รัฐบาลแคนาดา และ Bluedot (ภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI ติดตามและประเมินผลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ และเป็นผู้ทำงานด้านนี้ให้กับรัฐบาลแคนาดา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์) เป็นผู้สนับสนุนการทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งจะรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ COVID-19 ทุกวัน
 
ส่วนที่ 2 ของกลไก ASEAN EOC Network คือรายงานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Senior Officials for Health Development: SOMHD) ซึ่งสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยจะมีกลไก และเจ้าภาพในการดำเนินกิจการต่างๆ ดังนี้
 
·         กัมพูชา ทำหน้าที่เป็นประธานและประสานงาน ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting for Health Development (APT SOMHD) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
 
·         มาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานเครือข่าย ASEAN Public Health Emergency Operations Centre (PHEOC) Network
 
·         มาเลเซียทำหน้าที่ประธานและมีไทยเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาให้กับบุคลากรในพื้นที่ ASEAN Plus Three Field Epidemiology Training Network (ASEAN+3 FETN) โดยได้รับความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
 
·         ฟิลิปปินส์ ร่วมกับ Bluedot ทำหน้าที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ประมวลผล วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพ ให้กับประชาคมอาเซียน หรือที่เรียกว่า ASEAN BioDiaspora Virtual Centre for big data analytics and visualization (ABVC)
 
·         มาเลเซียจัดทำรายงานสถานการณ์และทำหน้าที่สื่อสารสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งต่อประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ผ่าน ASEAN Risk Assessment and Risk Communication Centre (ARARC)
 
·         ไทยร่วมกับ Global Health Security Agenda platform จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการ Public health laboratories network ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับอาเซียน ASEAN Health Cluster 2 on Responding to All Hazards and Emerging Threats และเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาค Regional Public Health Laboratories Network (RPHL)
 
ส่วนสำคัญส่วนที่ 3 คือ ASEAN EOC Network for Public Health โดยมาเลเซียทำหน้าที่เป็นประธานและผู้ประสานงานเครือข่าย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะการยืนยันจำนวนผู้ป่วยใหม่ และแนวทางการดูแลและรักษาผู้ป่วย ซึ่งแต่ละประเทศจะรายงานสถานการณ์ล่าสุดให้เครือข่ายทราบโดยใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วที่สุด รวมทั้งมีการจัดตั้งสายด่วน (hotline) และ call center ในแต่ประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนอาเซียนในกรณีที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อและพำนักอยู่ในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิดของตน รวมทั้งยังมีการจัดทำสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอาเซียนรู้วิธีการป้องกันและดูแลตนเองจากการระบาดของเชื้อโรค
 
ส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและทันสมัยอย่างยิ่งในการวางแผนเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด คือ ASEAN BioDiaspora Virtual Centre (ABVC) for Big Data Analytics and Vizualisation โดย ABVC จะเป็นเครื่องมือบนเว็บไซต์ที่มีการปรับปรุงข้อมูลทันทีที่มีข้อมูลใหม่เข้ามา (real-time web-based risk assessment tools) ฐานข้อมูลที่จะเชื่อมโยงกันได้แก่ ข้อมูลเรื่องการเดินทางทางอากาศ ข้อมูลโครงสร้างประชากร ความหนาแน่นและการกระจายตัวของประชากรในพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา ข้อมูลจำนวนสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ในแต่ละประเทศสมาชิก และข้อมูลภาคธุรกิจการผลิตด้านอุตสาหกรรมต่างๆ โดย ฐานข้อมูล ASEAN BioDiaspora แบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ The Explorer Tool (รายงานและฐานข้อมูลล่าสุด) และ The Insight Tool (รายงานข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์) โดยในส่วนนี้จะมีรายงาน Risk Assessment Report ในทุกๆ วัน
 
อย่างที่เรียนไปแล้วในตอนต้นว่า แม้จะมาช้า แต่อย่างน้อย อาเซียนก็มีกลไกในการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปด้วยกันแล้ว และในห้วงเวลาที่ทุกประเทศต่างเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล การร่วมกันใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของแต่ละประเทศ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือร่วมใจ สร้างกลไกยับยั้งการแพร่ระบาดร่วมกันของทุกประเทศอาเซียน จะทำให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
 
 
 
ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
 
 
 
 

ที่มา:The 101 World