งานวิจัยพบว่า 76% ของผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการตกค้าง


 
งานวิจัยในประเทศจีนตรวจสอบอาการผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นจำนวนกว่า 1,700 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีที่แล้ว และติดตามอาการอีกอย่างน้อย 6 เดือนพบว่า แม้จะหายป่วยไปแล้ว แต่ยังมีอาการป่วยข้างเคียงอย่างน้อย 1 อาการตกค้างอยู่มากถึง 76% และหากเจาะลึกถึงลักษณะอาการที่ตกค้างอยู่ จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการตามสัดส่วนดังต่อไปนี้
 
63% มีอาการเหนื่อยล้า
 
26% นอนหลับยาก
 
23% ซึมเศร้า
 
22% ผมร่วง
 
11% ได้กลิ่นผิดปกติ
 
9% หัวใจเต้นผิดปกติ
 
9% ปวดข้อ
 
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบความเสียหายของปอดในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงด้วย
 
หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า ด้วยความที่โรคโควิด-19 ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้โลกของเราไม่รู้จักอาการข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ทำให้เห็นได้ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อาจมีอาการข้างเคียงแม้จะหายป่วยแล้ว แพทย์จำเป็นต้องติดตามอาการผู้ป่วยไปอีกระยะ
 
งานวิจัยของจีนชิ้นนี้ยังสอดคล้องข้อมูลของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ (CDC) ที่ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อาจมีอาการบางอย่าง เช่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด ไอ ปวดข้อ และเจ็บหน้าอก กลับมาซ้ำอีก นอกจากนี้อาจพบอาการสมองล้า (brain fog) ซึ่งเกิดจากภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว จนทำให้ปวดหัวและมีอาการซึมเศร้าตามมาด้วย
 
ขณะเดียวกันงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับการวิจัยผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆ เช่นการวิจัยในผู้ป่วยโรคซาร์ส (SARS) ที่พบว่าผู้รอดชีวิตมีอาการตกค้างคล้ายๆ กัน
 
 
 
 
 
 

ที่มา:Workpoint News