ทำไม "ยางพารา" ถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย


ทำไม "ยางพารา" ถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ?
 
วิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้สินค้าส่งออกหลาย ๆ ชนิด เกิดการชะลอตัวลง แต่ทว่าความต้องการยางพาราของโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าการส่งออกยางพาราของไทยก็ขยายตัวได้ดีขึ้น เช่นกัน
 
"ยางพารา" คืออะไร ?
 
"ยางพารา หรือ ยางธรรมชาติ (Hevea brasiliensis)” เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล  ยางพารา จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย
 
นั่นก็เป็นเพราะวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด มียางเป็นส่วนประกอบ โดย "น้ำยางพารา/น้ำยางสด” เป็นของเหลวข้นสีขาวที่ถูกสร้างขึ้นและบรรจุอยู่ในท่อน้ำยาง ที่ได้มาจากต้นยางพารา ซึ่งจะกระทำด้วยวิธีการกรีด
 
"ยางพาราแปรรูป” เป็นการนำเอาน้ำยางสด/น้ำยางดิบมาแปรรูป โดยการใส่สารเคมีและผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครป เป็นต้น
 
 
 
-ทราบไหมว่า ยางพาราแปรรูปเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ทำอะไรต่อบ้าง ?
 
 
 
"ยางพาราแปรรูป” ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางยานพาหนะชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ (ถุงมือยาง,หลอดและท่อยางต่าง ๆ) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า
 
และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
 
 
 
-ทีนี้ มาถึงคำถามสำคัญ ทำไม "ยางพารา” ถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย?
 
อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก "ยางพารา” มีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 24.76 ล้านไร่ และไทยยังมีแรงงานเกษตรกรในภาคการผลิตยางพารามากถึง 1.83 ล้านราย พื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราที่สำคัญของไทย อาทิเช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออกและบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยเหมาะแก่การปลูกยางพารา พร้อมด้วยเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้ได้ผลผลิตยางที่มีคุณภาพสูง นี่คือเหตุผลที่สำคัญที่ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเป็นอันดับที่ 1 ของโลก
 
 
 
มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค.-ก.พ. 65 ยางพาราไทย มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 31,644.43 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น +24% จากช่วงเดียวกันของปี 64 มีปริมาณการส่งออก จํานวน 590,137 เมตริกตัน
 
สัดส่วนของการส่งออกแบ่งตามประเภทของยาง มีดังนี้
 
- ยางแท่ง มีสัดส่วน 53.30%
 
- น้ำยางข้น มีสัดส่วน 25.92%
 
- ยางแผ่น มีสัดส่วน 19.02%
 
โดยตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรกของยางพาราไทยในเดือน ม.ค.-ก.พ. 65 ได้แก่ จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น
 
สถานการณ์ส่งออกปี65 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับความต้องการยางพาราแปรรูปของโลกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
 
 
 
คู่แข่งที่ต้องจับตามอง คือ ประเทศจีน ที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งรายสำคัญ โดยจีนสามารถเพิ่มผลผลิตยางในประเทศได้มากขึ้น และเริ่มหันมาส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นอีกด้วยในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 74,189.45 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น +3% (ม.ค.-ก.พ. 65) สินค้าผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวได้ดี อาทิเช่น ยางยานพาหนะ (+33%) ยางวัลแคไนซ์ (+33%) ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม (+38%)
 
 
 
โดยทางสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม หรือ "สกอ.” ยังมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในภาคส่วนการส่งออก โดยการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าในรูปแบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) เป็นต้น
 
 
 
อ้างอิงข้อมูลจาก
 
-รายงานสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 65 สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
 
 
 
 
 
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ
 
 
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์