เห็นชอบ-อนุมัติหลักการ 2 ร่างกฎกระทรวง เกี่ยวกับปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลย์


นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระค่าภาคหลวงและรายได้อื่นๆ จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมให้แก่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซีย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
 
สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระค่าภาคหลวงและรายได้อื่นๆ จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมให้แก่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซีย พ.ศ. 2547 เพื่อขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากกองทุนเงินบำรุงการวิจัยให้กว้างขึ้น ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ได้แก่ 
 
1. การสนับสนุนโครงการวิจัยใดๆ สำหรับการสำรวจหรือการแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้ครอบคลุมหัวข้อการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนา ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเฉพาะการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) 
 
2. การบริหารและการประเมินผลโครงการวิจัย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการประชุมและการเดินทางของคณะอนุกรรมการพิจารณาการใช้เงินบำรุงการวิจัยกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและผู้ประเมินทางเทคนิค และค่าดำเนินการเพื่อคัดเลือกโครงการวิจัย และบริหารจัดการเพื่อเริ่มโครงการ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลโครงการวิจัย ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของต้นทุนโครงการแต่ละโครงการ 
3. ค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษาคนไทยและมาเลเซียในโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย สำหรับการสำรวจหรือแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมฯ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีอำนาจในการเสนอโครงการวิจัยของประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้สนใจหรือนักวิจัย โดยเฉพาะคนไทยและมาเลเซีย ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการสำรวจหรือแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยสำหรับประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตว่า กระทรวงพลังงานมีแผนให้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พร้อมกันทั้ง 2 ประเทศ แต่ในชั้นการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวง ปรากฏข้อเท็จจริงว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการเพื่อให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ภายในวันดังกล่าวได้ จึงเห็นควรให้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามหลักปกติที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 และในทางปฏิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานงานเพื่อดำเนินการให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับในวันเดียวกันได้ต่อไป
 
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีข้อบังคับเกี่ยวกับกิจกรรมการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 (หมวด 8 การเคลื่อนย้าย การกำจัด การรื้อถอน และการกอบกู้) และในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (ข้อ 3.12) อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดของการดำเนินงาน รวมถึงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน
 
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายมาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมถึงจัดทำสรุปรายงานและแผนการรื้อถอนที่ผู้ได้รับสัญญาต้องเสนอขออนุมัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 และที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนฯ
 
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดของการดำเนินงาน ขั้นตอน และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมที่ชัดเจน เห็นควรให้มีร่างกฎกระทรวงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2567 ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 เพื่อให้ผู้ได้รับสัญญาและผู้ดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วม รับผิดชอบในการดำเนินงานที่จำเป็นเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยสอดคล้องกับทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานสากลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.
 
 
 
 
 
https://www.thairath.co.th/news/politic/2783792

ที่มา:ไทยรัฐ