อภิสิทธิ์ชน!? ส.ส. อินโดนีเซีย ออกกฎหมายห้ามวิจารณ์นักการเมือง


 
สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซีย ออกกฎหมายใหม่ที่เรียกย่อๆ ว่า MD3 ซึ่งกำหนดให้ ส.ส. อินโดนีเซียสามารถยื่นฟ้องต่อบคคลใดก็ตาม ที่เห็นว่าบั่นทอนเกียรติและศักดิ์ศรีของตนหรือของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียได้
 
ทั้งยังกำหนดด้วยว่า การไต่สวนใดๆ เกี่ยวกับความประพฤติของ ส.ส. อินโดนีเซีย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียก่อน
 
เชื่อว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง คือคณะกรรมการปราบปรามคอรัปชั่นของอินโดนีเซีย
 
มีการลงชื่อออนไลน์จากผู้คนกว่า 170,000 คน เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายเรื่องนี้จากกลุ่ม NGO อย่างเช่น Indonesia Corruption Watch และสมาคมเพื่อการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย
 
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะทำได้โดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะกฎหมายได้รับความสนับสนุนจากพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคของอินโดนีเซีย รวมทั้งพรรค PDIP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของประธานาธิบดี Joke Widodo ด้วย
 
และ ส.ส. ของพรรครัฐบาลได้เรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายห้ามตำหนิวิจารณ์ ส.ส หรือกฎหมาย MD3 นี้มานานหลายเดือนแล้ว เชื่อด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียคงไม่อยากเข้ามามีบทบาทแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยก็ในขณะนี้เพราะอินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าเช่นกัน
 
คุณ Andreas Harsono นักวิจัยอาวุโสของ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ อินโดนีเซีย (Human Rights Watch Indonesia) กล่าวว่า การออกกฎหมายจํากัดการตำหนิวิจารณ์ ส.ส. และนักการเมืองอินโดนีเซียนี้ จะไม่ช่วยอะไร แถมยังจะสร้างปัญหาให้กับอินโดนีเซียด้วย
 
คุณ Andreas Harsono ชี้ด้วยว่า สำหรับนักการเมืองทั่วไปทั่วโลกนั้น คนเหล่านี้รู้ดีว่าตนควรต้องมีความอดกลั้น ใจกว้าง และยอมรับคำตำหนิวิจารณ์หรือการโจมตีในฐานะบุคคลสาธารณะ แต่เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นสำหรับอินโดนีเซีย โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติของอินโดนีเซียนั้น ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมืองซึ่งได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจน้อยที่สุดสถาบันหนึ่งในอินโดนีเซีย
 
และความพยายามเพื่อป้องกันการตำหนิวิจารณ์จากสาธารณชนดังกล่าว อาจมีขึ้นเพื่อสร้างฐานอำนาจปกป้องตนเอง เนื่องจากความนิยมที่สภานิติบัญญัติอินโดนีเซียได้รับจากสาธารณชนในขณะนี้ กำลังอยู่ที่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
 
 
 
 

ที่มา:วีโอเอ ไทย