ส่งออกข้าวเดือด พุ่งเป้าจีนทดแทนตลาดอียู


 
สถานการณ์ส่งออกข้าวในปี 2562 มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากแรงกดดันทั้งผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หลายประเทศถูกใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าข้าว เช่น สหภาพยุโรป (อียู) เรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชา และเมียนมา เป็นระยะเวลา 3 ปี ยิ่งทำให้แข่งขันส่งออกข้าวในตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิมที่ได้รับผลกระทบ มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งถูกพุ่งเป้าเป็นตลาดส่งออกข้าวทดแทนตลาดอียูที่เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
 
ล่าสุด สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา รายงานว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 กัมพูชาส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 1.12 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศจีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกกัมพูชาส่งข้าวไปประเทศจีนแล้วประมาณ 4.34 แสนตัน เพิ่มขึ้น 32% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38.6% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดในปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปช่วง 2 เดือนแรกปี 2562 กลับมีปริมาณลดลงเหลือเพียง 3.39 หมื่นตัน หรือลดลงประมาณ 33% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หลังจากที่สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา
 
สำหรับในปี 2561 กัมพูชามีการส่งออกข้าวจำนวน 6.26 แสนตัน ลดลง 1.48% เทียบกับปี 2560 โดยส่งออกข้าวหอมทุกชนิด (Fragrant Rice) จำนวนรวม 4.93 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด เพิ่มขึ้น 25.27% ส่งออกข้าวขาว (White Rice) จำนวน 1.05 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ลดลง 32.34% และข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) จำนวน 2.66 หมื่นตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ลดลง 68.66%
 
ขณะที่ตลาดส่งออกที่สำคัญในปี 2561 ประกอบด้วย ตลาดสหภาพยุโรปจำนวน 2.69 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ลดลง 2.77% ตามด้วยตลาดอาเซียน 1.02 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด เพิ่มขึ้น 100.58% ตลาดจีนจำนวน 1.70 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ลดลง 14.86% และตลาดอื่นๆ 8.39 หมื่นตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ลดลง 22.0%
 
ด้านสหพันธ์ข้าวเมียนมา (Myanmar Rice Federation; MRF) ระบุว่า การส่งออกข้าวในปี 2562 จะมีอุปสรรคมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกข้าวไปประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดมีแนวโน้มลดลง และอาจทำให้การส่งออกข้าวในปีงบประมาณ 2561/2562 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2.5 ล้านตัน (ภายในปี 2563/2564 เมียนมาตั้งเป้าส่งออกที่ 4 ล้านตัน มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
 
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสองฝ่ายระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศ (The Second China Myanmar Economic Corridor Forum) ที่มณฑลยูนนานของจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้แทนเจรจาของรัฐบาลเมียนมาได้ขอให้รัฐบาลจีนเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากเดิมปีละ 1 แสนตัน เพิ่มเป็น 4 แสนตัน ซึ่งได้มีการร่างข้อตกลงไว้แล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่เปิดเผยออกมา
 
นอกจากนี้ ทางการเมียนมายังต้องการให้ทางการจีนปรับลดภาษีนำเข้าข้าวจากเมียนมาลงจากเดิมที่ประมาณ 60% เหลือเพียง 17-20% รวมทั้งขอให้มีการจัดสรรใบอนุญาตนำเข้าเข้าให้แก่เอกชนของจีน เพื่อนำเข้าข้าวจากเมียนมาด้วย
 
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวในอาเซียน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่อียูเก็บภาษีนำเข้าข้าว กำลังหาทางตลาดส่งออกข้าวทดแทน ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากการแข่งขันส่งออกข้าวที่รุนแรงมากขึ้น และอาจมีการแข่งขันทางด้านราคา เพื่อผลักดันผลผลิตข้าวส่วนเกินของแต่ละประเทศออกไป
 
 
 
 

ที่มา:โพสต์ทูเดย์