เลือกตั้ง ส.ว.ญี่ปุ่นไม่พลิกโผ-พรรคร่วมรัฐบาล คะแนนนำ


 
ญี่ปุ่นเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศวันที่ 21 ก.ค. ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล 'แอลดีพี-โคเมโตะ' ได้ที่นั่งเกินครึ่ง คาดนายกฯ อาเบะจะได้เสียงหนุนมาตรการขึ้นภาษีการบริโภคที่จะลงมติในเดือน ต.ค.
 
ผลนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ หลังปิดคูหาเลือกตั้งไปเมื่อเวลา 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นวันที่ 21 ก.ค. พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลแอลดีพีและโคเมโตะ ได้ที่นั่งในสภาสูงไปแล้ว 63 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 124 ที่นั่งซึ่งจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ เมื่อรวมกับ 70 ที่นั่งในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่เดิม ทำให้พรรคแอลดีพี-โคเมโตะรักษาสถานะเสียงข้างมากในสภาสูงเอาไว้ได้
 
เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า วุฒิสภาของญี่ปุ่น หรือ House of Councilors มีสมาชิกในสภาทั้งหมด 245 ที่นั่ง มีวาระในการดำรงตำแหน่งคนละ 6 ปี แต่จะเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งสลับกันไปทุก 3 ปี
 
ขณะที่เดอะเจแปนไทม์สรายงานว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในปีนี้มีจำนวนทั้งหมด 370 ราย ส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ร้อยละ 27.3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2016 ประมาณร้อยละ 5.19 บ่งชี้ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถกระตุ้นให้ชาวญี่ปุ่นออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากนัก เพราะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิส่วนใหญ่คือผู้สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว
 
สื่อญี่ปุ่นระบุว่า ชัยชนะของพรรคร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลให้นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี สังกัดพรรคแอลดีพี ได้รับเสียงสนับสนุนในสภาเพื่อรับรองนโยบายขึ้นภาษีการบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ซึ่งมีกำหนดจะพิจารณาลงมติในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาล 'โคเมโตะ' ไม่ได้คัดค้านนโยบายดังกล่าว เพราะเห็นว่าการขึ้นภาษีการบริโภคจะช่วยให้รัฐบาลแก้ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประชาชนในสังคมสูงวัยได้มากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม พรรครัฐบาลแอลดีพีอาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในสภาสูงเพื่อผลักดันให้เกิดการตีความมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นใหม่อย่างที่คาดหวัง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ญี่ปุ่นใช้กำลังทหารหรือเข้าร่วมสงครามเหมือนในอดีต
 
ขณะเดียวกัน เดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า กฎหมายฉบับใหม่ของญี่ปุ่นที่บังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว กำหนดให้พรรคการเมืองสนับสนุนบทบาทของผู้หญิง ทำให้มีผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ของผู้สมัครทั้งหมด รวมถึงมีผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBT
 
ส่วนพรรคที่มีผู้หญิงและตัวแทนกลุ่ม LGBT ลงสมัครมากที่สุด คือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 'ซีดีพี' คิดเป็นกึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคทั้งหมด ขณะที่พรรคแอลดีพีของนายกฯ อาเบะ กลับมีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี