บริษัทญี่ปุ่นแข่งเดือดจีนโครงการสมาร์ทซิตี้อาเซียน


 
บริษัทญี่ปุ่นแข่งขันอย่างดุเดือดกับบริษัทจีนเพื่อชิงเค้กก้อนใหญ่ในโครงการสมาร์ทซิตี้ของหลายประเทศในอาเซียน
 
โครงการสมาร์ทซิตี้ หรือ เมืองอัจฉริยะที่หลายภูมิภาคของโลกกำลังเร่งก่อสร้างเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนยุค 4.0 เป็นโครงการที่บริษัทต่างๆอย่างมีส่วนร่วม อย่างโครงการสมาร์ทซิตี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเป็นผู้นำในด้านนี้ ล่าสุด บริษัทญี่ปุ่น และองค์กรต่างๆของญี่ปุ่นประมาณ 200 แห่งต่างขับเคี่ยวกับบริษัทสัญชาติจีนเพื่อเข้าไปทำโครงการไฮ-เทค 26 โครงการในภูมิภาคนี้ หวังสร้างอิทธิแก่ภูมิภาคนี้แทนจีนและเกาหลีใต้
 
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสังคมเปลี่ยนไป และทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบงานบริการสาธารณะ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างตรงจุด มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเมืองให้ดีขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
 
1. เทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะถูกนำมาปรับใช้กับเมืองเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสาธารณะผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า เช่น วิเคราะห์ข้อมูลความแออัดของการจราจรบนท้องถนนเพื่อให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพโดยที่ตัวเองยังอยู่ที่บ้าน
 
2. ประชาชน ผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองคือหัวใจหลักในการออกแบบ และวางแผนพัฒนาเมือง ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดรับกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ
 
ผู้เข้าร่วมต้องทำโครงการต่างๆใน26เมืองของประเทศต่างๆในอาเซียน ครอบคลุมถึง ความพยายามบรรเทาปัญหาการจราจรและพัฒนาระบบการจ่ายเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันอังคาร(15ต.ค.)รัฐมนตรีเศรษฐกิจ คมนาคมและต่างประเทศจึงจัดประชุมเป็นเวลาสองวันในเมืองโยโกฮามาร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของอาเซียน มีวาระหลักคือการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะและร่างเอกสารความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
 
ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ดำเนินนโยบายสนับสนุนการส่งออกด้านโครงสร้างพื้นฐานและถือว่านี่คือศูนย์กลางการดำเนินกลยุทธเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม ปี 2561 ญี่ปุ่นได้รับออร์เดอร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 23 ล้านล้านเยน หรือ 214 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านล้านเยนในปีก่อนหน้านี้ และรัฐบาลโตเกียวหวังว่าจะกระตุ้นให้ตัวเลขนี้ขยายตัวเป็น 30 ล้านล้านเยน ภายในปลายปี 2563
 
ไอดีซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการตลาด ประเมินว่า ตลาดสมาร์ทซิตี้จะมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านล้านเยน ภายในปี 2566 มีขนาดใหญ่กว่าปี 2561 สองเท่าตัวด้วยกัน โดยสมาร์ทซิตี้ เป็นการบูรณาการเทคโนโลยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เทคโนโลยีสารสนเทศ และบิ๊กดาต้าเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองและปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของอาเซียนและประชากรอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยความเป็นเมืองอัจฉริยะจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติด และปัญหาขยะล้นเมือง
 
26 เมืองในโครงการจะทำหน้าที่เป็นเหมือนเมืองทดลองในโครงการต่างๆ รวมถึง การพัฒนาระบบการจ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสด และการใช้เทคโนโลยีล้ำยุคประเภทอื่นๆ อีกทั้งโครงการริเริ่มนี้ยังรวมเอาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิมไว้ด้วยกัน อาทิ การบำบัดน้ำเสีย และจะมีการจัดตั้งทีมงานประจำโครงการขึ้นมาในแต่ละเมืองเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของคนในท้องถิ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทจะเสนอเทคโนโลยีและให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยตั้งความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลในการสร้างเมืองอัจฉริยะได้สองหรือสามเมืองได้ภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
 
ทั้งนี้ หลายโครงการมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดของประชากรในเขตเมือง เช่น ฮานอย มีแผนพัฒนาระบบควบคุมการจราจรด้วยการใช้ไอทีเข้ามาช่วย ส่วนมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดอันดับ2ของเมียนมา ตั้งเป้านำระบบหนึ่งมาใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูลด้านการจราจร ขณะที่เมืองโคตา คินาบาลู ของมาเลเซีย กำลังทำโครงการด้านการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ซึ่งรวมถึงรถไฟรางเบา และกรุงจาการ์ตา มีแผนใช้ระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลสำหรับการคมนาคมขนส่งสาธารณะ
 
ที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นจะคว้าสัญญาทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นการสร้างถนน สร้างเขื่อน และสร้างโรงไฟฟ้า ขณะที่รัฐบาลโตเกียวก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆเพื่อทำให้เมืองต่างๆมีประสิทธิภาพและเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น
 
 
 
 
 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ