พบผู้ติดเชื้อกาฬโรค 2 รายในกรุงปักกิ่ง


 
ทางการจีนประกาศพบผู้ติดเชื้อกาฬโรคปอด 2 รายในกรุงปักกิ่ง โดยผู้ป่วยมาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ขณะนี้มีป้องกันและควบคุมโรคแล้ว ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคชี้ว่าความเสี่ยงในการแพร่ระบาดต่ำ
 
วันที่ 12 พฤศจิกายน ทางการเขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง ระบุว่าแพทย์ในปักกิ่งได้ตรวจพบและยืนยันแล้ว ว่าพบเชื้อกาฬโรคในผู้ป่วยสองรายที่มาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งอยู่ทางแถบตอนเหนือของจีน
 
ทางสำนักข่าวซินหัวรายงานว่าเว็บไซต์ทางการเขตฉาวหยาง ระบุว่าผู้ป่วยทั้งสองรายได้รับการรักษาที่สถาบันทางการแพทย์ในเขตฉาวหยางอย่างเหมาะสมแล้ว และได้มีการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคแล้ว โดยไม่ได้ขยายความต่อแต่อย่างใด
 
ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่าความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายนั้นต่ำอย่างยิ่ง พลเมืองปักกิ่งสามารถไปทำงาน ใช้ชีวิต และไปสถาบันทางการแพทย์ได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการติดเชื้อ
 
ทั้งนี้ กาฬโรค เป็นโรคที่ติดต่อที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia Pestis) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) กาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ (septicemic ) และกาฬโรคปอด (pneumonic plague) สำหรับชนิดที่พบในผู้ป่วยทั้งสองรายนั้นเป็นชนิดกาฬโรคในปอดเป็นชนิดที่อันตรายที่สุด ส่งผลให้มีไข้สูง หายใจติดขัด และอาจเสียชีวิต มีหนูหรือหมัดเป็นพาหะ สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศและติดต่อได้ผ่านการไอ
 
สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่าลีจีเฟิง แพทย์จากโรงพยาบาลฉาวหยางกรุงปักกิ่ง ซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสองรายเข้ารักษา ได้โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียวีแชต (WeChat) ว่าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยเป็นสองสามีภรรยา ฝ่ายชายวัยกลางคนระบุว่ามีไข้และหายใจติดขัดเป็นเวลา 10 วันแล้วและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน แต่อาการไม่ดีขึ้น และภรรยาของเขาก็มีอาการเช่นเดียวกัน
 
เขาชี้ว่าสาเหตุที่ทางการใช้เวลานานกว่าจะประกาศนั้น เป็นเพราะสัญญาณของโรคระบาดใดๆ นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบยืนยันซ้ำให้แน่ใจก่อน
 
ในอดีต การระบาดของกาฬโรคในยุโรปยุคกลางเป็นสาเหตุให้หลายสิบล้านคนเสียชีวิต ในปัจจุบันมียาปฏิชีวนะที่สามารถรักษาการติดเชื้อหากรักษาอย่างทันท่วงที ทว่าการระบาดของกาฬโรคยังไม่หมดไป
 
เมื่อเดือนก่อน ทางการจีนเพิ่งประกาศมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันมิให้เชื้อกาฬโรคเข้าสู่ประเทศ หลังในปี 2017 พบการระบาดในมาดากัสการ์ โดยตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกยืนยัน มีผู้ติดเชื้อ 2,119 ราย
 
องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าช่วงปี 2010 ถึง 2015 พบการติดเชื้อกาฬโรค 3,248 รายทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิต 584 ราย สามประเทศที่มีการระบาดมากที่สุด คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาดากัสการ์ และเปรู
 
สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัย จัดการความรู้ และมาตรฐานการควบคุมโรค ระบุว่าพบการติดเชื้อกาฬโรคครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่ตลาดตาคลี และไม่พบอีกจนถึงทุกวันนี้
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี