'เพื่อนบ้านในอาเซียน' พาเหรดจับธุรกิจอวกาศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ


 
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หวังจับธุรกิจอวกาศ มองเป็นช่องทางในการเติบโตของประเทศ
ประเทศต่างๆในอาเซียนเริ่มหันมามองหาโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศหวังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชิ้นใหม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังสะดุดและการใช้งบการเงินของประเทศมากเกินไปแล้ว
 
ฟิลิปปินส์
 
'โจเอล มาร์เซียโน' หัวหน้าฝ่ายอวกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า "เราจะไม่ยอมตกขบวนนี้" โดยปัจจุบันฟิลิปปินส์มีดาวเทียมทั้งหมด 3 ดวง ในวงโคจร ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีการถ่ายทอดทักษะความรู้มีการถ่ายทอดมาสู่มหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์
 
โดย 'โจเอล' ย้ำว่า ฟิลิปปินส์มีเป้าหมายในการสร้างและปล่อยดาวเทียวออกสู่วงโคจรจำนวน 4 - 5 ดวง ในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า พร้อมบอกว่าอย่างน้อยที่สุดฟิลิปปินส์ก็จำเป็นต้องตามเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีของโลกให้ทัน โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจด้านอวกาศในปัจจุบันกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
มาเลเซีย
 
มาเลเซียเป็นประเทศใหม่ล่าสุดในเอเชียที่หันเข้ามาสู่วงการอวกาศ ที่ผ่านมามาเลเซียอยู่ภายใต้การค้าเสรีที่ซื้อข้อมูลดาวเทียมจากประเทศอื่นๆมากกว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของตัวเอง
 
'อัซลิคามิล นาเปียห์' ผู้อำนวยการองค์กรอวกาศแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันมาเลเซียไม่สามารถพึ่งพาดาวเทียมของประเทศอื่นๆได้ และต้องหันกลับมาสร้างระบบนิเวศของประเทศให้ดีขึ้นโดยเฉพาะในเทคโนโลยีอวกาศ 
 
"วันนึงเราก็ต้องมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง ต้องมีภาคอวกาศเป็นของตัวเอง" อัซลิคามิล กล่าว
มาตรการใหม่นี้เกิดจากความพยายามของ 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' นายกของประเทศมาเลเซีย ที่ต้องการกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจขณะเดียวกับการพยายามลดการของดุลงบประมาณของรัฐ
 
โดยการเข้าสู่วงการอวกาศในครั้งนี้ มาเลเซีย เลือกที่จะเป้นพาร์ทเนอร์กับภาคเอกชนเพราะรัฐบาลไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายได้เพียงพอต่อการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ก็ตั้งเป้าจะเป็นประเทศแห่งการบินและอวกาศภายในปี 2573
 
อินโดนีเซีย
 
ความหวังของอินโดนีเซียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศยังคงขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากงบประมาณที่ได้จาก 'โจโก วีโดโด' ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซียไม่ได้เพิ่มขึ้นมานานแล้ว เพราะประเทศกำลังมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ภนน ท่าเรือ และสนามบิน
 
อย่างไรก็ตาม 'โทมัส ดจามาลุดดิน' ประธานบริหารสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศที่มีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ อินโดนีเซียต้องการดาวเทียมในการตรวจสอบพื้นที่ชายขอบ รวมถึงการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก และการพึ่งพาแต่ดาวเทียมจากต่างประเทศอาจจะไม่เพียงพอ 
 
'โทมัส' ชี้ว่า อินโดนีเซียต้องการเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวทางอวกาศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคภายในปี 2583 ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ก็เริ่มมีการพูดคุยเรื่องเงินทุนสนับสนุนกับประเทศจีนบ้างแล้ว 
 
ไม่ได้มีแค่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจอวกาศเท่านั้น ประเทศอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเอง ก็สนใจไม่แพ้กัน
 
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ในเอเชียยังคงจำกัดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยในญี่ปุ่น ร้อยละ 90 ของคำสั่งซื้ออุปกรณ์มาจากภาครัฐ แต่ก็มีความพยายามในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนราวร้อยละ 50 ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆในยุโรป
 
ขณะที่ในจีนมีภาคเอกชนมากกว่า 200 บริษัทที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน โดยภาครัฐเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และปล่อยให้เอกชนทำเรื่องทั่วๆไป ส่วนเกาหลีใต้มีเป้าหมายที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมอวกาศด้วยการพัฒนาจากรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก
 
เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ของประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอวกาศมากเท่าไหร่นัก แต่ก็มีการผลักดันอุตสาหกรรมความหวังใหม่ที่เน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมและเน้นไปที่อุตสาหกรรมในพื้นที่การลงทุนความหวังอย่างระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มากกว่า 
 
สุดท้ายคงต้องมารอดูว่า 3 ประเทศเพื่อนบ้านไทย จะพัฒนาเศรษฐกิจตัวเองจากอุตสาหกรรมอวกาศได้มากน้อยแค่ไหน การที่ไทยไม่มีแผนชัดเจนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่นี้ ประเทศไทยจะเสียค่าเสียโอกาสจากการตกขบวนรถไฟนี้หรือไม่และมากน้อยเท่าใด
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี