จีนหนุนประชาชนเรียนอาชีวะฯ แก้ปัญหาทักษะแรงงานและการว่างงาน


 
รัฐบาลจีนหวังเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยื่นรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคต
 
จำนวนแรงงานมหาศาลเคยเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกส่งผลโดยตรงต่อความได้เปรียบด้านต้นทุนของแรงงาน อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องดีอีกต่อไปในสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มอิ่มตัวของจีน
 
แรงงานทักษะต่ำกลายเป็นตัวฉุดจีนไม่ให้เดินไปข้างหน้า และด้วยเหตุนี้ 'สี จิ้นผิง' ประธานาธิบดีของจีน และ 'หลี่ เค่อเฉียง' นายกรัฐมนตรีของจีน จึงร่วมกันผลักดัน "นโยบายจ้างงานก่อน" ซึ่งถูกประกาศออกมาในช่วงเดือนมีนาคม 2562 
 
โดยหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายสนับสนุนการจ้างงานนี้คือการผลักดันให้ประชาชนจำนวน 15 ล้านคน เข้าสู่การปรับทักษะในโรงเรียนอาชีวศึกษาเป็นเวลา 3 ปี โดยส่วนหนึ่งมาจากการตระหนักว่า จำนวนเด็กจบใหม่ราว 13 ล้านคน/ปี ในจีนนั้น ยังมีทักษะไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมในยุคหน้า อาทิ การผลิตหุ่นยนต์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนุบสนุนการลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานถึง 2.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.6 ล้านล้านบาท ด้วย
 
'สู จ้าวไข่' หนึ่งในผู้ที่ได้รับเลือกเข้าไปเรียนในโรงเรียนอาชีวศึกษาสะท้อนว่า การปรับทักษะเป็นเวลา 3 ปี เป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากจะให้ประสบการณ์ตรงมากกว่าการเรียนจากมหาวิทยาลัยปกติ
 
"ทุกคนมีปริญญาตรีกันหมด และก็มีคนนั่งในออฟฟิศมากเกินไปแล้ว" สู กล่าว
 
ขณะที่ 'แมตเทียส สตีเพน' นักวิจัยด้านประเทศจีนจากเยอรมนี กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่ารีฐบาลจีนมองเห็นปัญหาเรื่องการเรียนการสอนที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
 
นอกจากจะเป็นการตอบโจทย์เรื่องแรงงานระยะยาว การผลักให้ประชาชนเข้าสู่การศึกษาก็เป็นการลดคนว่างงานด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อมีคนสมัครเรียนเพิ่มหนึ่งคนก็จะมีแรงงานว่างงานลดลงหนึ่งคนเช่นเดียวกัน
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี