'ออง ซาน ซูจี' ยืนยันลงสู้ศึกเลือกตั้งเมียนมาสมัยที่ 2


 
‘ออง ซาน ซูจี’ ผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการลงสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาที่จะมีขึ้นเดือน พ.ย. นี้ เพื่อรักษาเก้าอี้รัฐบาลสมัยที่ 2 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองเป็นบทสอบสำคัญของการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา
 
‘ออง ซาน ซูจี’ วัย 75 ปี เดินทางไปยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในนครย่างกุ้ง ท่ามกลางผู้สนับสนุนประมาณ 50 คน ที่มารวมตัวให้กำลังใจ ผู้สนับสนุนบางคนยังสวมหน้ากากอนามัยสีแดงเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ของนางซูจี โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้รองหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีได้ยืนยันว่า นางซูจีจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตกอมู โดยเธอเคยชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนเขตนี้มาแล้วในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2555 และการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558 
 
ซูจีนำพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558 หลังจากที่เมียนมาถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมายาวนานหลายทศวรรษ แต่รัฐบาลพลเรือนของซูจีก็จำเป็นต้องแบ่งอำนาจกับกองทัพ ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของซูจีในฐานะเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ต้องสั่นคลอนจากการที่กองทัพเมียนมาปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาจนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คน ต้องลี้ภัยข้ามแดนไปยังบังกลาเทศ ซึ่งผู้สอบสวนสรุปว่าปฏิบัติการดังกล่าวของกองทัพมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 
 
เมื่อเดือน พ.ย. 2562 แกมเบียซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กล่าวหาเมียนมาต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาต่อเนื่อง ขณะที่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นางซูจีได้ยอมรับว่าอาจมีอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญาแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมระบุว่าผู้ลี้ภัยกล่าวหาเกินจริงในเรื่องขอบเขตการละเมิดที่กระทำต่อพวกเขา โดยเมียนมาได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อปกป้องชาวโรฮิงญา แต่ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของเอกสารดังกล่าว 
 
แม้ความนิยมในประเทศต่อซูจียังอยู่ในระดับสูง แต่การเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่คืบหน้า รวมถึงแรงกดดันใหม่ในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญของซูจีและพรรคเอ็นแอลดี ทั้งนี้ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คือทหารและข้าราชการเกษียณ จะเป็นคู่แข่งหลักของพรรคเอ็นแอลดี 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี