สี จิ้นผิง เปิดตัวมาตรการใหม่ เดินหน้าสร้างประเทศจีนที่สวยงาม


สี จิ้นผิง เปิดตัวมาตรการใหม่ ณ การประชุม COP15 ผลักดันสร้างประเทศจีนที่สวยงาม ภายใต้ธีม อารยธรรมนิเวศวิทยา
 
วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ต.ค.) จีนได้เปิดเผยมาตรการต่าง ๆ เพื่อสานต่อความพยายามของประเทศในการสร้างจีนที่สวยงาม ระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 (COP15) ซึ่งจัดขึ้นที่นครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
 
ภายใต้ธีม “อารยธรรมนิเวศวิทยา: การสร้างอนาคตร่วมกันสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก” COP15 เป็นการประชุมระดับโลกครั้งแรกที่จัดโดยสหประชาชาติซึ่งเน้นย้ำถึงอารยธรรมนิเวศวิทยา อันเป็นปรัชญาที่จีนได้นำเสนอไว้
 
กองทุนความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติ และแผนบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอน
 
จีนจะเป็นผู้นำในการลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านหยวน (ประมาณ 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจัดตั้งกองทุน Kunming Biodiversity Fund ปธน.จีนสี จิ้นผิง ได้ประกาศนโยบายดังกล่าว ขณะขึ้นกล่าวปราศรัยในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP15 ผ่านวิดีโอลิงก์ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
 
ปธน.สีกล่าวว่า กองทุนนี้จะนำเงินไปใช้สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในด้านการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเสริมว่าจีนขอเรียกร้องและยินดีต้อนรับทุกฝ่ายให้ร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน เพื่อเสริมสร้างการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จีนกำลังเร่งดำเนินการเพื่อสร้างระบบพื้นที่คุ้มครองที่มีอุทยานแห่งชาติเป็นแกนหลัก
 
เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ และมีภูมิทัศน์ธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์มากที่สุด ตลอดจนมรดกทางธรรมชาติที่มีค่าที่สุด และแหล่งสำรองความหลากหลายทางชีวภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จะถูกรวมไว้ในระบบอุทยานแห่งชาติ
 
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสูงสุดและความเป็นกลางทางคาร์บอน จีนจะเปิดเผยแผนปฏิบัติการด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในพื้นที่สำคัญและภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนชุดมาตรการสนับสนุน และจะวางกรอบนโยบาย “1+N” สำหรับการปล่อยคาร์บอนถึงจุดสูงสุดและความเป็นกลางทางคาร์บอน
 
จีนจะเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการกำหนดสัดส่วนพลังงาน รวมถึงพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างเข้มข้น และเร่งความคืบหน้าในการวางแผนและพัฒนาพลังงานลมขนาดใหญ่ และการติดตั้งสถานีเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ทราย พื้นที่หิน และทะเลทราย
 
การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
 
ปธน.สี ระบุในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ว่า มนุษย์และธรรมชาติจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน “เมื่อเราดูแลปกป้องธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะให้รางวัลแก่เราอย่างใจกว้าง แต่หากเราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างหยาบคาย ธรรมชาติก็จะลงโทษเราอย่างไร้ความปรานี”
 
“เราจำเป็นต้องยำเกรงต่อธรรมชาติให้มาก เคารพธรรมชาติ ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ และปกป้องธรรมชาติ เพื่อสร้างพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” ผู้นำจีนกล่าว
 
ปธน.สี จิ้นผิง ได้ย้ำแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ที่เคยเสนอในปี 2548 โดยระบุว่า น้ำใสไหลเย็นและภูเขาเขียวขจีเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่า ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ได้เป็นเพียงทรัพย์สินทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจด้วย และส่งผลกระทบต่อศักยภาพและแนวโน้มของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
 
ปธน.สี เรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการส่งเสริมวิธีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ประโยชน์ทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างพื้นที่ของความก้าวหน้าร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
 
ผู้นำจีนเรียกร้องประชาคมโลกร่วมมือกันเพื่อการพัฒนามนุษยชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ปธน.สีเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมมือกัน และเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่เพื่อพัฒนามนุษยชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ปธน.สีเน้นย้ำว่า การพัฒนาอารยธรรมทางนิเวศวิทยาควรเป็นแนวทางในการประสานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และเสริมว่ากิจกรรมของมนุษย์จะต้องอยู่ภายในขอบเขตของนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
 
นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังได้ผลักดันความพยายามที่จะให้การเปลี่ยนแปลงสีเขียวเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความพยายามของผู้คนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก และเรียกร้องให้ยกระดับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ของการพัฒนาสีเขียวในทุกประเทศ
 
ปธน.สี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อยกระดับความเท่าเทียมทางสังคมและความยุติธรรม โดยกฎหมายระหว่างประเทศควรเป็นพื้นฐานในการค้ำจุนระบบธรรมาภิบาลระหว่างประเทศที่ยุติธรรมและเสมอภาค
 
ปธน.สียังกล่าวอีกว่า การปกป้องสิ่งแวดล้อมแบบใหม่นั้น จะต้องมีความทะเยอทะยาน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและสมดุลด้วย
 
 
 
 
 
 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ