50 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น มิตรภาพจากใจถึงใจ


เวลา 50 ปีถือว่ายาวนานมาก หากคนเราคบหากันได้นานขนาดนี้แน่นอนว่าจะต้องมีพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างที่สุด ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน ปี 2023 เป็นปีครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเหมือนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น จัดแถลงข่าวออนไลน์ "ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน 50 ปีแห่งความก้าวหน้า"  เมื่อวันก่อนโดยยาซาวะ ฮิเดกิ รองผู้อำนวยการใหญ่ กองนโยบายภูมิภาค สำนักกิจการเอเชียและโอเชียเนีย ย้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่สร้างจากใจถึงใจระหว่างมหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออกกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ อันเริ่มต้นมาจากการก่อตั้ง Synthetic Rubber Forum ในปี 1973 สืบเนื่องจากช่วงต้นทศวรรษ 70 มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่สุดของโลก ขณะที่ญี่ปุ่นผลิตและส่งออกยางสังเคราะห์ ทั้งสามประเทศจึงร้องขอให้ญี่ปุ่นลดการส่งออก ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสนทนาอย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ปี 1977 การประชุมผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีทาเคโอะ ฟุกุดะ ประกาศ “หลักนิยมฟุกุดะ” (Fukuda Doctrine) ระหว่างเดินสายเยือนมิตรประเทศอาเซียน หลักการสำคัญคือ   ญี่ปุ่นจะไม่เป็นมหาอำนาจทางทหาร สร้างความสัมพันธ์แบบ “ใจถึงใจ” ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยญี่ปุ่นและอาเซียน (และรัฐสมาชิก) เป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร จากนั้นปี 2003 ทั้งสองฝ่ายกลายมาเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” 
 
ปี 2013 เป็นปีสำคัญอีกปีหนึ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศหลักการห้าข้อว่าด้วยการทูตอาเซียนของญี่ปุ่น ในวาระ 40 ปีมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น สาระสำคัญประกอบด้วย 
 
1. คุ้มครองและส่งเสริมค่านิยมสากล ได้แก่ หลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 
 
2. หลักนิติธรรมและหลักกฎหมายในทะเล อันหมายถึงการใช้กฎเกณฑ์/หลักการแทนการใช้กำลัง 
 
3. ส่งเสริมเศรษฐกิจเปิดกว้างและเสรี ขจัดอุปสรรคทางการค้า
 
4. เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ปกป้องและดูแลวัฒนธรรมอันหลากหลายของเอเชีย 
 
5. เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเยาวชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันในหมู่เยาวชนผู้แบกรับอนาคต 
 
จากหลักการดังกล่าวถึงปลายปี 2556 ทั้งสองฝ่ายประกาศวิสัยทัศน์มิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ได้แก่ 
 
1. หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ
 
2. หุ้นส่วนเพื่อความมั่งคั่ง
 
3. หุ้นส่วนเพื่อคุณภาพชีวิต 
 
4. หุ้นส่วนใจถึงใจ 
 
กล่าวได้ว่าความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นไปด้วยดีตลอดมา ประจักษ์พยานอันหนึ่งคือ ก่อนโควิดระบาดประชาชนจากอาเซียนไปเยือนญี่ปุ่นเกิน 5.5 ล้านคน ชาวอาเซียนไปเยือนญี่ปุ่นเกิน 4 ล้านคน และทั้งสองกลุ่มไทยเป็นอันดับหนึ่ง กล่าวคือ  ในอาเซียนคนไทยไปเยือนญี่ปุ่นมากที่สุด และคนญี่ปุ่นมาเยือนไทยมากที่สุดเช่นกัน   
 
หากจะสรุปถึงคุณลักษณะความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่น มักเน้นการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์และส่งผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนา ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาของประเทศนั้นๆ อย่างแท้จริง 
 
ถึงปีนี้ในโอกาส 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น จะมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี แต่ไฮไลต์อยู่ที่การประชุมผู้นำที่จะมีขึ้นราวเดือน ธ.ค.ที่กรุงโตเกียว แน่นอนว่าต้องมีการประกาศวิสัยทัศน์ร่วมฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองอาเซียนต้องจับตา เพราะมิตรภาพที่แน่นแฟ้นตลอด 50 ปีมาจากพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีแบบใจถึงใจ สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะทำต่อไปย่อมต่อยอดให้มิตรภาพเดินหน้าไม่รู้จบและผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือพลเมืองอาเซียน 
 
 
 
 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ