จีนลุยเพิ่มประชากร ส่งเสริมวัฒนธรรมมีลูก


จีนกังวลมากที่ปีก่อนจำนวนประชากรจีนลดลงครั้งแรกในรอบหกทศวรรษ ประกอบกับประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว  ผลจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวอย่างเข้มงวด ระหว่าง พ.ศ.2523 - 2558 ก่อให้เกิดความท้าทายด้านประชากรตามมาหลายอย่าง แม้ช่วงไม่กี่ปีหลังจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวหันมาอนุญาตให้ประชาชนมีลูกสามคนได้ แต่ดูเหมือนจะยังไม่พอ  รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ อินเดียแซงหน้าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก รัฐบาลจีนจำต้องมีมาตรการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ ล่าสุดเตรียมเปิดตัวโครงการนำร่องในกว่า 20 เมือง สร้างการแต่งงาน “ยุคใหม่” และวัฒนธรรมการมีลูก เสริมสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการมีลูก ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการจีนเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดที่กำลังตกต่ำทุกขณะ งานนี้สมาคมวางแผนครอบครัวหน่วยงานระดับชาติที่ดำเนินการตามมาตรการประชากร และภาวะเจริญพันธุ์ของรัฐบาล เป็นผู้รับผิดชอบเตรียมเปิดตัวโครงการเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงแต่งงาน และมีลูกในวัยที่เหมาะสม กระตุ้นให้ผู้ปกครองแบ่งปันความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก ควบคุม “ราคาเจ้าสาว” หรือค่าสินสอดที่สูงเกินเหตุ รวมถึงควบคุมธรรมเนียมล้าสมัยอื่นๆ เมืองที่ร่วมทำโครงการนำร่อง เช่น เมืองศูนย์กลางการผลิต กว่างโจว และเมืองฮานดัง มณฑลเหอเป่ย์ หลังจากปีก่อนสมาคมทำโครงการแบบเดียวกันนี้ใน 20 เมืองรวมถึงกรุงปักกิ่งไปแล้ว
 
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่มณฑลจีนทำเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีลูก นอกเหนือจากการให้แรงจูงใจด้านภาษี ให้เงินอุดหนุนซื้อบ้าน อุดหนุนการศึกษาหรือการศึกษาฟรีสำหรับลูกคนที่ 3
 
เหอ ย่าฟู่ นักประชากรศาสตร์กล่าวกับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส ที่รัฐบาลสนับสนุนว่า สังคมจำเป็นต้องชี้นำคนหนุ่มสาวให้มากขึ้นถึงแนวคิดการแต่งงาน และมีลูก
 
ความกังวลอย่างหนักของทางการจีนเห็นได้จาก เมื่อเดือนมี.ค. ที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐบาลได้เสนอในสิ่งที่ดูจะเป็นเรื่องฝ่าขนบให้หญิงโสดควรสามารถเข้าถึงไข่แช่แข็ง และ IVF และบริการอื่นๆ เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ของจีนได้ จากเดิมให้บริการเฉพาะหญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการเพิ่มประชากรมากเพียงใด เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  ร่วมประชุมงานหนึ่งว่าด้วยการพัฒนาประชากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “การฟื้นฟูครั้งใหญ่” ของจีน
 
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ของทางการจีน รายงานเมื่อวันอังคาร ตอกย้ำว่า จีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประชากรที่มีทักษะดี จีนต้องมีระดับ “การเจริญพันธุ์ปานกลาง” เพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
จะว่าไปแล้วทัศนคติก็มีส่วนสำคัญ ผู้หญิงจีนหลายคนลังเลมีลูกมากกว่าหนึ่งคนหรือไม่มีลูกเลยเพราะต้นทุนการเลี้ยงดูเด็กสูงมาก การมีลูกบางทีอาจต้องเลิกทำงานนอกบ้าน เพราะการเลือกปฏิบัติทางเพศ และคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับวิธีคิดแบบเก่าๆ ที่ให้ผู้หญิงรับภาระเลี้ยงลูก
 
การเปลี่ยนทัศนคติของผู้หญิงรัฐต้องมีบทบาท และเป็นตัวช่วย  สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนรายงานข่าว “การดูแลทารกไม่ยากอีกต่อไป”  เมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) พร้อมระบุว่าจีนจะเพิ่มจำนวนศูนย์ดูแลเด็กเป็นสองเท่าภายในปี 2568 จำนวนเลี้ยงเด็กจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ต่อประชาชน 1,000 คน ภายในปีดังกล่าว จาก 2.5 ต่อประชาชน 1,000 คนในปี 2565
 
นอกจากนี้ทางการจีนได้เพิ่มวาทกรรมเรื่องพ่อแม่ต้องช่วยกันเลี้ยงลูก  แต่ในความเป็นจริงการลางานเพื่อเลี้ยงลูกในมณฑลส่วนใหญ่ยังทำได้จำกัด สถานการณ์ประชากรจีนตอนนี้ดูเหมือนความต้องการของรัฐยังขัดแย้งกับความเป็นจริง แน่นอนว่าการเพิ่มหรือลดจำนวนประชากรไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในพริบตาหนึ่งหรือสองปีแต่กินเวลานับสิบปี  กระนั้น ประเทศที่มีประชากรระดับ 1,400 ล้าน จะเพิ่มหรือลด ย่อมส่งผลกับเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
 
 
 
 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ