ผู้นำอาเซียน เคาะร่างองค์ประกอบวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบร่างองค์ประกอบหลักสำหรับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2568 (ASEAN Community’s Post-2025 Vision) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยร่างองค์ประกอบหลักจะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนอาเซียนในภาพรวม ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านความเชื่อมโยง และด้านความเข้มแข็งของกลไกการประสานงาน ก่อนนำไปจัดทำร่างวิสัยทัศน์และพิมพ์เขียวฉบับใหม่ต่อไป ทั้งนี้เสาเศรษฐกิจได้เสนอองค์ประกอบหลักสำหรับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2568  เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค 6 ด้าน ได้แก่ การยกระดับเศรษฐกิจ ส่งเสริมการรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว พร้อมทั้งหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การตอบสนองต่อประเด็นความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การคำนึงถึงกระแสการพัฒนาใหม่ๆ
 
โดยเฉพาะการเป็นประชาคมดิจิทัลชั้นนำ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลและนวัตกรรมให้พลเมืองและภาคธุรกิจ ความสามารถในการปรับตัว มีเอกภาพ ดำเนินการเชิงรุก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ความสามารถตอบสนองต่อความตึงเครียด วิกฤติ ความผันผวนต่างๆ โดยสามารถคาดการณ์และจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ และการดำเนินการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งสตรี เยาวชน ผู้สูงวัย ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง และ MSMEs โดยสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม
 
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันกรอบการดำเนินการของเสาเศรษฐกิจอยู่ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจ ปี 2568 (AEC Blueprint 2025) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2559 และจะสิ้นสุดในปี 2568 ซึ่งแผนงานฉบับนี้ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง 2. ความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต 3. ความเชื่อมโยงและความร่วมมือรายสาขาต่างๆ 4. ความสามารถในการปรับตัวและครอบคลุมทุกภาคส่วน และ 5. การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก ซึ่งแผนฉบับใหม่จะต่อยอดจากแผนงานฉบับปัจจุบัน
 
โดยจะให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและทันต่อยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ การมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนวาระความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนขึ้น โดยคณะทำงานระดับสูงของอาเซียนจะเริ่มจัดทำร่างวิสัยทัศน์และแผนงานประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ทั้งสามเสาให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2568 ก่อนนำเสนอผู้นำอาเซียนรับรองพิมพ์เขียวแผนงานประชาคมฉบับใหม่ และเริ่มใช้ในปี 2569 ต่อไป
 
 
 
 

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ