สศช.เตรียมถกคณะกรรมการร่วมกับเมียนมาตามความคืบหน้าทวาย ก่อนชงที่ประชุม 3 ฝ่ายเดือน ม.ค. 2561


 
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (เจซีซี) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างเมียนมาและไทย เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุม 3 ฝ่ายของประเทศที่ถือหุ้นบริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) คือบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ ได้แก่ ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ที่จะมีการประชุมในเดือน ม.ค. 2561
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้ง ทั่วไปของเมียนมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่รัฐบาลเมียนมาขอทบทวนการดำเนินการในโครงการทวาย ได้แก่ การดำเนินการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมในระยะที่ 1 และการ กู้เงินจากประเทศไทยเพื่อก่อสร้าง ถนน 2 ช่องทางจราจรจากจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะทางรวม 138 กิโลเมตร กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี
 
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนสายนี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยได้เสนอให้รัฐบาลเมียนมากู้เงิน โดยให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ในสังกัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ปล่อยกู้ ซึ่งไทยเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษที่ 0.01% ระยะปลอดหนี้ 10 ปี ระยะชำระคืนเงินกู้ 20 ปี แต่เงินกู้จำนวนนี้รัฐบาลเมียนมายังไม่ได้อนุมัติให้มีการกู้จากประเทศไทย เนื่องจากมีการเลือกตั้งและเมียนมาได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
 
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุม เจซีซีครั้งล่าสุดที่ไทยกับเมียนมามี การประชุมร่วมกันเกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 โดยที่ประชุมรับทราบการใช้แผนแม่บทการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ เพื่อเป็น กรอบแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อีกทั้งที่ประชุมเห็นชอบ ให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจระหว่างไทย-เมียนมา สำหรับโครงการถนนสองช่องทาง เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา ทั้งตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจระหว่างไทย-เมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานในคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจทั้งสองคณะประสานฝ่ายเมียนมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดำเนินการให้ได้ข้อสรุปและจัดทำข้อเสนอแนะต่อเจซีซี และที่ประชุมยังมีการรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานในด้านต่างๆ เพื่อติดตามโครงการทวายต่อไป ส่วนประเด็นที่ฝ่ายเมียนมาเสนอให้จัดตั้งสำนักงานของบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ ในเมียนมานั้น ครม.มีความเห็นควรคงสถานะให้บริษัท ทวายฯ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยและจัดตั้งสำนักงานสาขาในเมียนมาแทน
 
 
 
 

ที่มา:โพสต์ทูเดย์