การเยือนอินโดนีเซียของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


 
เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย ในนามประเทศไทยและในฐานะประธานอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และหารือแนวทางที่ไทยกับอินโดนีเซียจะร่วมกันส่งเสริมบทบาทอาเซียนในการสนับสนุนเมียนมาในการแก้ไขสถานการณ์ในรัฐยะไข่และความร่วมมือของอาเซียนในเรื่องอินโด-แปซิฟิก
 
ในการเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และพบหารือข้อราชการกับนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดและมูลค่าการค้า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นระหว่างกัน โดยเห็นพ้องที่จะจัดกิจกรรมร่วมกันในปี ๒๕๖๓ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งเรื่องสหภาพยุโรปปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทยและยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมประมง
 
ในกรอบอาเซียน อินโดนีเซียยืนยันที่จะสนับสนุนไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้อย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนในอาเซียน และยินดีกับการลงพื้นที่ของคณะทำงานการประเมินความต้องการจำเป็นเบื้องต้น (Preliminary Needs Assessment Team) ของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการจัดการภัยพิบัติ (AHA Center) และประเทศสมาชิกอาเซียนและสนับสนุนให้มีการลงพื้นที่ของคณะทำงานการประเมินความต้องการจำเป็นอย่างครอบคลุม (Comprehensive Needs Assessment Team) ในอนาคต นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังชื่นชมบทบาทนำของไทยในการประสานท่าทีของอาเซียนเกี่ยวกับแนวคิดอินโด-แปซิฟิก และทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับพัฒนาการในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลีด้วย
 
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พบหารือข้อราชการกับดาโตะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนและส่งเสริมศักยภาพและบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน และได้แลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นท้าทายของภูมิภาค อาทิ สถานการณ์รัฐยะไข่ แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ทะเลจีนใต้ การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO)
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ