พม. จัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26


 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 62  เวลา 09.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 (26th Meeting of Senior Officials Committee for the ASEAN Socio - Cultural Community: SOCA) ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เป็น 1 ใน 4 ของการประชุมอาเซียนที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่13 - 18 พฤษภาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกระทรวง พม. ในฐานะ Focal Point ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) เป็นเจ้าภาพ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Chair of SOCA) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) รวมทั้ง คณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และคณะผู้แทนรวมจำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องลานนาบอลรูม 2 - 3 โรงแรมแชงกรี - ลา จังหวัดเชียงใหม่
 
       นายปรเมธี กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 (26th Meeting of Senior Officials Committee for the ASEAN Socio - Cultural Community: SOCA) มีการรายงานต่อที่ประชุมในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การนำเสนอแผนงานหลักของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของไทย ในปี 2562 โดยมีกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน "3 - 4 - 14” ดังนี้ "3 แนวทางหลัก” ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (People - to - People Connectivity) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships) ความยั่งยืน (Sustainability) การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต (Future - Oriented Actions for Human Security) "4 ศูนย์อาเซียน” ที่จะมีการเปิดตัวหรือปรับปรุงพัฒนาในประเทศไทย ได้แก่ 1. ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม 2. ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน 3. ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ 4. คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียนในประเทศไทย และ "14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ” สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ การต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน การคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมธรรมาภิบาล การยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล ประเด็นในด้านสิทธิเด็กและการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ การส่งเสริมปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น
 
       "การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 (26th Meeting of Senior Officials Committee for the ASEAN Socio - Cultural Community: SOCA) นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทย โดยจะได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งด้านรายได้และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวนมาก จากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมเดินทางเข้ามาประชุมยังประเทศไทย นอกจากการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา อันเป็นผลจากนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ จำนวน 14 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบต่อไป” นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย
 
 
 
 

ที่มา:รัฐบาลไทย