กรมปศุสัตว์ช่วยเหลือ สปป.ลาว ยับยั้งแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกา


 
กรมปศุสัตว์ไทยส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไป สปป.ลาว เพื่อช่วยเหลือและป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
 
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานประชุมกับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการเผชิญเหตุ หากมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังจากองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ประกาศพบการระบาดใน สปป.ลาว จึงร่วมกันพิจารณาแนวทางป้องกันโรคไม่ให้เข้าประเทศและเตรียมรับมือกรณีพบมีการระบาดของโรคในไทย
 
ทั้งนี้ ทางกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันโรค ดังนี้ การเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรให้ตรวจสอบระบบการออกใบเคลื่อนย้ายภายในจังหวัดที่มีการประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาด โดยให้ออกใบ ร.3 หรือ ร.4 รวมถึงต้องแจ้งปลายทางก่อนเคลื่อนย้าย อีกทั้งตรวจสอบการเคลื่อนย้ายซากลูกสุกรที่นิยมมาทำหมูหัน โดยต้องมีแหล่งที่มาชัดเจนเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เชือดโดยโรงเชือดที่ถูกกฎหมาย ให้ระบุการเคลื่อนย้ายซากลูกสุกรเป็นจำนวนตัว เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดที่มีความเสี่ยงในการระบาดของโรค
 
ส่วนการควบคุมการส่งออกอาหารสัตว์และวัตถุดิบไปยังประเทศกัมพูชาและลาว ให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์รวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการแล้วจัดประชุมปรับวิธีการขนส่ง โดยไม่ให้รถขนส่งเข้าสู่ฟาร์มที่มีการระบาด ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเร่งอบรมการใช้เครื่องตรวจสารพันธุกรรมแบบเคลื่อนที่ (Portable PCR) เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยโรคได้เร็วในพื้นที่เสี่ยง สำหรับการปราบปรามโรคเชือดเถื่อนและโรงเชือดที่มีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นได้กำชับให้มีพนักงานตรวจโรคก่อนเข้าเชือด เพื่อป้องกันการนำสุกรที่ป่วยเข้าเชือด
 
สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำแก่ปศุสัตว์จังหวัดตามแนวชายแดน คือ ให้ประสานงานกับแขวงต่างๆ ของลาวเพื่อช่วยเหลือและร่วมมือและควบคุมโรคในลาว ล่าสุดทางการลาวแสดงความขอบคุณกรมปศุสัตว์ไทยที่จัดส่งยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกา ที่ด่านชายแดนระหว่างประเทศ เนื่องจากยังคงมีระบาดอย่างต่อเนื่องในจังหวัดสาละวัน หลังพบโรคครั้งแรกในเดือน มิ.ย. 2562 
 
โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์และการประมงของลาวระบุว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ สะหวันนะเขต, จำปาสัก, เซกอง และ อัตตะปือ ทั้งนี้ ไทยมอบอุปกรณ์บังคับสุกรชนิดสั้น 50 ชิ้น อุปกรณ์บังคับสุกรชนิดยาว 50 ชิ้น เครื่องพ่นชนิดสะพายหลัง 30 เครื่อง เครื่องพ่นยาขนาดใหญ่ 10 เครื่อง น้ำยาฆ่าเชื้อ 200 ลิตร และเครื่องช็อตทำสลบไฟฟ้า 200 เครื่อง หากเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรต้องการสิ่งใดเพิ่มกรมปศุสัตว์ไทยยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ตามหลักการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนระหว่างประเทศ
 
 
 
 
 

ที่มา:วอยซ์ทีวี