กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในไทย ในหัวข้อ "โอกาสการลงทุนระหว่างไทยกับมณฑลซานตง" ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน


 
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว ร่วมกล่าว สุนทรพจน์ในงานสัมมนาหัวข้อ “โอกาสการลงทุนระหว่างไทยกับมณฑลซานตง” ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงปักกิ่ง สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลซานตง (CCPIT) และสมาพันธ์สภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์มณฑลซานตง โดยมี นายหลิน หยวน รองประธาน CCPIT มณฑลซานตง นายปิยะ อุดมก้านตรง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ
 
นางดลพร อัชววรกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงปักกิ่ง ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกร ผู้แทนจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะและนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เข้าร่วมกล่าวบรรยาย และมีผู้ประกอบการในมณฑลซานตงตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
 
ภายในงาน นายหลิน หยวน รองประธาน CCPIT มณฑลซานตง ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้ประกอบการ จากนั้น นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ โดยกล่าวถึงความสำคัญในการจัดงานที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รู้จักและพบกับหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องการลงทุนในไทยโดยตรง ทั้งนี้ ในการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีจีน-ไทย ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนนโยบาย BRI เนื่องจากสอดคล้องนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ของไทย ไทยพร้อมที่จะเชื่อมโยงจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีน และความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ต่อมา นายปิยะ อุดมก้านตรง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ กล่าวเปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการ
 
หลังจากนั้น นางดลพร อัชววรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้บรรยายนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับหากลงทุนในไทย ต่อมา ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกร ผู้แทนจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะและนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ได้กล่าวสรุปสถานการณ์ตลาดการเงินไทย ขั้นตอนการลงทุนในไทย และภายหลังการสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการซักถามข้อสงสัยในการลงทุนในไทยเพิ่มเติม
 
ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวนอกจากเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดการลงทุนในไทยแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการลงทุนในไทยให้ผู้ประกอบการชาวจีนรับทราบ เพื่อต่อยอดสู่การลงทุนในไทยและเป็นช่องทางในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ระหว่างกันอีกด้วย
 
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ