ไทยแห่เที่ยวซาปา-ดานัง คึกคัก รัฐบาลเวียดนามเล็งทุ่มหมื่นล้านขยายสนามบินรับนักท่องเที่ยว


 
รัฐบาลเวียดนามทุ่ม 10,000 ล้านบาท ขยายสนามบินดานังรับนักท่องเที่ยวไทย หลังยอดผู้โดยสารโตทะลุ 20% ติดต่อกัน 5 ปี พ่วงโปรเจ็กส์สร้างสนานบินใหม่เมืองซาปา
 
นายพัน คิว ฮุ่ง รองผู้อำนวยการสนามบินดานัง ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า สนามบินดานังเตรียมแผนลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3) เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20 ล้านคน หวังใช้เป็นแบบมิกซ์ยูสทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพการรองรับให้ได้ 50 ล้านคนภายในปี 2030 ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี โดยสัดส่วนหลักมาจาก ประเทศไทย เกาหลีใต้และจีน
 
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเริ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนและประชาชนในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2020 ใช้เวลาก่อสร้างราว 17 เดือนก่อนเปิดใช้บริการ ส่วนด้านรูปแบบนั้นจะเป็นการให้สัมปทานบริษัทที่เข้ามาลงทุนในระยะยาว
 
นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามเตรียมแผนก่อสร้างสนามบินซาปา เพื่อส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว เพราะถือว่าซาปาและดานังเป็น 2 ใน 3 เมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศสำหรับชาวยุโรปและชาวไทย โดยมีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่ราว 20-25 องศาเซลเซียสตลอดปี อีกทั้งยังมีหิมะในหน้าหนาว สำหรับซาปาถูกเรียกว่าหลังคาอินโดจีน มีความสูง 3,144 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประดุจเมืองท่ามกลางก้อนเมฆ และเมืองดานังสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับเวียดนามติด 1 ใน 3 ของเมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ
 
นายพัน คิว ฮุ่ง กล่าวว่า สำหรับสนามบินดานังปัจจุบันมีเที่ยวบิน 52 เที่ยวบินต่อวัน มีไฟลท์บินจากประเทศไทยราว 20% หรือราว 11 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้โดยสารในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทะลุ 200% จาก 5 ล้านคนในปี 2014 มาเป็น 15 ล้านคนในปี 2018 คาดว่า ปี 2019 จะมีผู้โดยสารทั้งปีราว 19-20 ล้านคน ส่วนเที่ยวบินมีการขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี ในปี 2018 มีปริมาณ 80,000 เที่ยวบิน คาดว่าในปี 2019 เที่ยวบินตลอดปีอยู่ที่ราว 90,000 เที่ยวบิน
 
อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสนามบินของรัฐบาลเวียดนามจะเน้นก่อสร้างก่อนดีมานต์ กล่าวคือจะสร้างและขยายสนามบินทิ้งไว้รองรับการขยายตัวของผู้โดยสารในระยะยาว อีกทั้งการก่อสร้างยังทำได้รวดเร็วกว่าไทยมากเพราะใช้บุคลากรก่อสร้างกัน 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 กะ แตกต่างกับไทยที่มีข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรด้านก่อสร้าง
 
 
 
 

ที่มา:โพสต์ทูเดย์