อว. เป็นผู้นำอาเซียน เปิดเวทีส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่น สร้างผู้ประกอบการธุรกิจรูปแบบใหม่ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม


 
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการ The 1st Japan-ASEAN Multi-Stakeholder Strategic Consultancy Forum” จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อหารือแนวทางการสร้างโอกาสในการพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปใช้ได้จริงในสังคม และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ณ ไบเทค บางนา
 
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Smart Energy Transformation Asia (SETA 2019) มีวัตถุประสงค์เพื่อจับคู่งานวิจัยที่มีความสำคัญสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสังคมที่เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ และหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านงานวิจัยที่มีความสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงส่งเสริมให้เกิดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเกิดผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ว่าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลักดันวาระเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นกระทรวงที่มีทั้งหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยในสังกัดที่ทำงานวิจัยหลายประเภทและมีจำนวนมาก โดยมีนโยบายที่ใช้กำกับดูแลการวิจัยและพัฒนาที่สร้างความมั่นคงทางสังคมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้นำนโยบาย BCG มาใช้ในการพัฒนางานวิจัยของประเทศ BCG มาจาก Bioeconomy, Circular Economy, and Green Economy มาบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการปรับตั้งให้เป็น Innovation Driven Enterprise โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในอาเซียน ในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา และการเพิ่มศักยภาพงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประชาคมอาเซียนให้มีความยั่งยืน และเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่น ในการร่วมทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปใช้สร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ เกิดการสร้าง Business Model รูปแบบใหม่ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ ได้มีการต่อยอดไปสู่ ASEAN Innovation Roadmap ซึ่งเป็นแผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินงานความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
 
 
 
 
 

ที่มา:รัฐบาลไทย