รมช.มท. ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ด้านพัฒนาชนบท และขจัดความยากจน ครั้งที่ 11 ชู 3 มิติหลักในการพัฒนา ขจัดความยากจนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


 
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 62 ณ กรุงเนปยีดอร์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Nay Pyi Taw, Myanmar) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วยนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยชัย แสงอินทร์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบท และขจัดความยากจน ครั้งที่ 11 (The 11th ASEAN Ministerial Meeting on Rural Development and Poverty Eradication หรือ 11th AMRDPE)
         
นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาชนบท และขจัดความยากจนอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน และผลักดันความร่วมมือในด้านดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และของอาเซียน โดยประเทศไทยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาชนบท และขจัดความยากจนใน 3 มิติ ดังนี้
          มิติที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยได้ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้มีรายได้น้อย มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 14.2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP) ซึ่งจะสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้ทุกระดับ เพื่อให้การกำหนดนโยบายของรัฐบาลสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
          มิติที่ 2 การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โดยได้จัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 (1996) มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 5.7 ล้าน (5,737,387 คน) และได้ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน เดือนละ 600 บาท ต่อเนื่องจนถึงอายุ 6 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education หรือ iSEE) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการเรียกดูข้อมูลจำนวนนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
          มิติที่ 3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งขณะนี้มีหมู่บ้านต้นแบบทั่วประเทศแล้ว จำนวน 9,061 หมู่บ้าน พร้อมทั้งได้ดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากการผลิตสินค้าชุมชน (OTOP) ซึ่งขณะนี้เกิดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแล้ว จำนวน 3,273 หมู่บ้าน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มขึ้น จำนวน 64,570 ผลิตภัณฑ์
          สุดท้าย นายทรงศักดิ์ ทองศรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเปิดตัวศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและหารือ ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre on Sustainable Development Studies and Dialogue) ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2562 ณ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ประกอบกับการขับเคลื่อนการพัฒนาใน 3 มิติข้างต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักในการพัฒนาชนบท และขจัดความยากจน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ทางฝ่ายไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกำหนดทิศทางความร่วมของภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติของประเทศสมาชิกอาเซียน (Advancing Partnership for Sustainability) ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”.
 
 
 
 
 

ที่มา:รัฐบาลไทย