UNODC - ประเทศในลุ่มน้ำโขง แก้ปัญหายาเสพติดในภูมิภาค


 
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค (Mekong MOU) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย กัมพูชา จีน เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว ไทย และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร (13พ.ย.62 เวลา 09.30 น.)
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า "การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค (Mekong MOU) เน้นกลไกที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อป้องกันการลักลอบผลิต การค้า และการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เป็นผลมาจากการปลูก การผลิต การลักลอบค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเป็นจำนวนมากรวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11 เพื่อแสดงออกถึงความร่วมมือจากทุกประเทศในการแก้ไขปัญหา”
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่ออีกว่า "ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวทุกประเทศมีความตั้งใจในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินงาน โดยสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อการควบคุมยาเสพติดรวมทั้งการรับรองปฏิญญากรุงเทพ และการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 11 เพื่อความต่อเนื่อง ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาตามนโยบายรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด การมุ่งลดปริมาณยาเสพติดในภูมิภาค ด้วยการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ มิให้ถูกลักลอบนำเข้าไปยังแหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และสกัดกั้นมิให้ยาเสพติดแพร่กระจายออกไปทั้งในและนอกภูมิภาค”
 
อย่างไรก็ตาม มาตรการคู่ขนานที่รัฐบาลดำเนินการคือ การลดความต้องการยาเสพติดในประเทศซึ่งมีความสำคัญเพราะแม้สามารถทำลายแหล่งผลิตได้มากเท่าใด หากความต้องการยังคงมีอยู่แหล่งผลิตก็จะเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นใคร่ขอให้พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดนับตั้งแต่การดูแลลูกหลาน ครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยภาพรวม
 
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน