ครม.เห็นชอบ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ


 
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซีย (รัสเซีย) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ และเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย เนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองไว้แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2548 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้       
 
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในการพัฒนา จัดโครงการเฉพาะ หรือกิจกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกของคู่ภาคีที่หามาได้ โดยขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในประเทศ กฎ ระเบียบ และนโยบายแห่งชาติซึ่งใช้บังคับในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย โดยมีเป้าหมายของโครงการความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่าง 2 ฝ่าย คือ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติงานของ AHA Centre และศูนย์ภาวะวิกฤตของรัสเซีย โดยสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                  
1 ขอบเขตความร่วมมือ
          (1) สนับสนุนการเตือนภัยล่วงหน้า และการติดตามการประเมินความเสี่ยงอันตรายจากผลกระทบดังกล่าว
          (2) อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
          (3) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
          (4) ส่งเสริมการฝึกอบรมความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ
          (5) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง AHA Centre  และศูนย์ภาวะวิกฤตของรัสเซีย
 
2. กลไกการดำเนินการและโครงการความร่วมมือ ทั้ง 2 ฝ่ายจะพัฒนาความร่วมมือหรือร่วมกันจัดโครงการโดยเฉพาะหรือกิจกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยอาศัยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย โดยขึ้นอยู่กับกฎหมาย กฎ ระเบียบภายในของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย
 
3. ผลของบันทึกความเข้าใจ  บันทึกความเข้าใจเป็นเพียงการบันทึกความตั้งใจของคู่ภาคี และไม่ก่อให้เกิดการสร้างภาระผูกพันภายใต้กฎหมายภายในประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ หรือก่อให้เกิดกระบวนการทางกฎหมายใดๆ หรือก่อให้เกิดภาระหน้าที่ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
 
4. การเริ่มมีผลบังคับใช้และระยะเวลา บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ได้มีการลงนาม โดยมีผลบังคับใช้ช่วงระยะเวลา 3 ปี และจะมีผลบังคับใช้ใหม่โดยอัตโนมัติในอีก 3 ปีถัดไป หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายอาจขยายระยะเวลาตามที่ได้ตกลงร่วมกัน
 
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน